สายน้ำสายเลือด

สายน้ำสายเลือด

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์
ภาพถ่าย ปาสกาล แมตร์

เรือลำใหญ่ล่องไปภายใต้ผืนฟ้าระยิบระยับด้วยแสงดาว แหวกฝ่าท้องน้ำซึ่งบางช่วงแผ่ไพศาลราวมหาสมุทร บางช่วงเล็กแคบแทบไม่ต่างจากลำธารตื้นๆ  เรือลำนี้แบกภาระหนักหน่วงอย่างน่าหวาดเสียว มันทำหน้าที่ขับดันเรือท้องแบนสามลำข้างหน้าด้วยเครื่องยนต์ที่ออกแบบให้รับน้ำหนักได้ราว 750 ตัน แต่ระวางสินค้าที่บรรทุกมา ตั้งแต่เหล็กเส้น กระสอบปูนซีเมนต์ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ กลับมีน้ำหนักรวมกันมากกว่า 900 ตัน หลังคาที่ใช้ผ้าใบและผืนผ้าขึงต่อๆกันพะเยิบพะยาบอยู่เหนือเรือท้องแบนทั้งสามลำ ข้างใต้มีผู้โดยสารเบียดเสียดกันอยู่ร่วม 600 ชีวิต

ผู้โดยสารจำนวนมากเป็นผู้พำนักอาศัยอยู่ในเมืองซึ่งหวังจะได้ทำงานเก็บเกี่ยวข้าวโพดและถั่วลิสง ผู้หญิงสองสามคนนำเตาถ่านขนาดเล็กมาเสนอขายบริการทำอาหาร ขณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆเสนอขายเรือนร่าง ทุกคนล้วนต้องทำสิ่งที่จำเป็น บนเรือมีเสียงร้องเพลง เสียงทะเลาะเบาะแว้ง และเสียงสวดมนต์

เป้าหมายของเราอยู่ที่พยายามทำความเข้าใจตัวแปรหรือปัจจัยคงที่ข้อหนึ่งในประวัติศาสตร์อันระส่ำระสายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้ยังพอจะหยิบยื่นหนทางใหม่ๆให้ชาติที่รุมเร้าด้วยปัญหาความยากจนและการฉ้อราษฎร์บังหลวงมาช้านานแห่งนี้ได้หรือไม่ หรือแม่น้ำคองโกจะเป็นอีกจักรวาลหรือโลกที่อยู่อย่างเอกเทศ

ในมาลูกู ผู้โดยสารขึ้นจากเรือท้องแบนที่บรรทุกไม้ซุงเพียบแปล้อย่างน่าหวาดเสียว การทำไม้เป็นธุรกิจใหญ่ บนแม่น้ำคองโก และการตัดไม้ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการพังทลายของตลิ่งซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

แม่น้ำคองโกร้อยรัดเก้าประเทศในทวีปแอฟริกาเข้าด้วยกันตลอดเส้นทางการไหลราว 4,700 กิโลเมตรสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แต่ตัวตนของแม่น้ำสายนี้กลับผูกร้อยอยู่กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (หรืออดีตประเทศซาอีร์) ชนิดไม่อาจแยกขาดจากกัน

“แม่น้ำคองโกคือกระดูกสันหลังของประเทศเราครับ ถ้าไม่มีกระดูกสันหลัง คนเราก็ยืนไม่ได้” อีซีดอร์ อึนเดย์เวล อี อึนเซียม อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกินชาซา กล่าว ความที่ไม่มีหน่วยงานบริหารจัดการอย่างจริงจังทำให้แม่น้ำคองโกเป็นเหมือนผู้สร้างความเสมอภาคชั้นยอดของชาติ แต่ก็ส่งผลให้คุณค่าของแม่น้ำในฐานะแหล่งทรัพยากรลดลงมากไปด้วย หากคำนึงถึงศักยภาพมหาศาลด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการเกษตรบนพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างใหญ่ถึง 3,900,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งทวีปแอฟริกาจะเป็นหนี้บุญคุณแม่น้ำคองโก และย่อมเป็นหนี้ประเทศต้นน้ำไปโดยปริยาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าแม่น้ำคองโกยังคงไหลไปตามธรรมชาติ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยังคงสั่นคลอนง่อนแง่นภายใต้แรงกดดันของจำนวนประชากรที่มากเกินพอดี ความยากจน และการทุจริต

วิถีชีวิตบางอย่างยังดำเนินไปเฉกเช่นที่เคยเป็นมา ชาวประมงเผ่าวาเจเนียยังคงสานลอบขนาดมหึมาเพื่อจับปลาในแก่งน้ำเชี่ยวกรากนอกเมืองคีซานกานี

แม่น้ำสายนี้และลำน้ำสาขาทำหน้าที่เป็นเส้นทางอพยพของมวลมนุษย์นับย้อนไปถึงยุคผู้ตั้งถิ่นฐานที่ใช้ภาษาบันตูเมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน ทางน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่ประหนึ่งเครือข่ายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน เมือง มหาสมุทร และโลกภายนอก แต่นั่นยังไม่อาจสะท้อนถึงความสำคัญทั้งมวลของแม่น้ำคองโกได้ มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาช้านานว่า แม่น้ำคองโกใช่จะมีความสำคัญในฐานะสายน้ำอันไพศาลเท่านั้น แต่อาจเป็นแหล่งเพชร แร่ และขุมทรัพย์อื่นๆที่เป็นยอดปรารถนาของนานาอารยธรรมเป็นเวลาหลายทศวรรษที่สำนักงานการคมนาคมแห่งชาติ หรือโอนาตรา (Office National des Transports: ONATRA) มีอำนาจผูกขาดการบริหารการจราจรและการค้าทางน้ำทั้งหมด กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทศวรรษ 1990 ในช่วงปีท้ายๆของการครองอำนาจของอดีตผู้นำเผด็จการ โมบูตู เซเซ เซโก ดังที่ซิลเวสเตร มานี ตรา ฮามานี เจ้าหน้าระดับสูงของโอนาตรา ยอมรับว่า “เครื่องยนต์เรือของเราเก่าและเริ่มเสีย ทำให้เกิดความล่าช้าครั้งละนานๆ และทำให้เราสูญเสียความน่าเชื่อถือครับ”

ถนนหนทางเป็นของหายากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เรือสินค้าท้องแบนจึงมักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทาง ผู้โดยสารหุงหาอาหาร นอนหลับ และพูดคุยกันท่ามกลางกองสินค้าที่โงนเงนไปมา

เพื่อเป็นการแก้ปัญหา เทียร์รี อองเดร มาเยเล จากองค์กรบริหารจัดการเส้นทางสัญจรทางน้ำ หรืออาร์วีเอฟ (Régie des Voies Fluviales: RVF) บอกว่า “นักการเมืองของเราตัดสินใจเปิดเสรีการคมนาคมบนแม่น้ำสายนี้ จุดประสงค์หลักก็เพื่อหาประโยชน์จากธุรกิจนี้เสียเองครับ” เจ้าหน้าที่รัฐคองโกออกกฎระเบียบและข้อกำหนดภาษีที่เปิดช่องให้หลีกเลี่ยงกันได้ง่ายๆ พวกเขาจ่ายเงินเดือนให้บรรดาผู้จัดการท่าเรือเพียงน้อยนิดจนการติดสินบนและการรีดไถมีชัยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ยังปล่อยให้หน่วยงานอย่างโอนาตรา, อาร์วีเอฟ และองค์กรกำกับดูแลแม่น้ำอื่นๆทุกองค์กรขาดแคลนทรัพยากรในการบริหารงาน สถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้นมาจนปัจจุบัน กล่าวคือ รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางให้มั่นใจว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าที่สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใดๆทั้งสิ้นผู้คนที่เดินทางขึ้นล่องแม่น้ำคองโกล้วนรู้เรื่องนี้ดีและตระหนักถึงความเสี่ยงที่รออยู่ การกอบโกยผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากการทำไม้ในบริเวณลุ่มน้ำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติส่งผลให้ตลิ่งเกิดการพังทลายอย่างเห็นได้ชัด ความเป็นจริงข้อนี้ บวกกับความล้มเหลวของรัฐบาลในการขุดลอกแม่น้ำ การที่ลูกเรือติดสินบนเจ้าหน้าที่การท่าเรือให้เพิกเฉยต่อระวางบรรทุกส่วนเกินได้อย่างง่ายดาย และการหายไปของเรือฉุกเฉินในแม่น้ำ ทั้งหมดนี้หมายความว่า ผู้โดยสารต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงทุกครั้งที่ก้าวเท้าลงเรือ

Recommend