นักวิทยาศาสตร์พบแบบแผนสมองของผู้คิดฆ่าตัวตาย

นักวิทยาศาสตร์พบแบบแผนสมองของผู้คิดฆ่าตัวตาย

ทีมนักวิทยาศาสตร์สแกนสมองพบแบบแผนความคิดฆ่าตัวตาย

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เว็บไซต์ technologynetworks.com รายงานการค้นพบเรื่องสำคัญของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา เมื่อทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยดังกล่าวนำโดยมาร์เซล จัสต์ และเดวิด เบรนต์ จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่และวิธีการที่ช่วยระบุบุคคลที่คิดฆ่าตัวตาย โดยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในสมองที่แสดงต่อความคิดต่างๆ เช่น ความตาย ความโหดร้าย และปัญหา

ความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยากจะประเมินและทำนาย  ในสหรัฐอเมริกา การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุลำดับที่สองที่ทำให้เด็กวัยรุ่นเสียชีวิต  งานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Human Behaviour  เสนอวิธีการใหม่ที่จะประเมินอาการผิดปรกติทางจิตเวช

“งานชิ้นล่าสุดของเราระบุการเปลี่ยนแปลงความคิดซึ่งสัมพันธ์กับกระบวนการก่อเกิดและเชื่อมโยงความคิดกับพฤติกรรมด้วยอัลกอริทึมการเรียนรู้จักรกล (machine-learning algorithm) เพื่อประเมินภาพแสดงของประสาทที่เกี่ยวกับแนวคิดเฉพาะซึ่งสัมพันธ์กับความตาย  มันเปิดหน้าต่างสู่สมองและความคิดให้เรา ทำให้เห็นว่าบุคคลที่คิดฆ่าตัวตายกับความคิดอื่นๆ และอารมณ์สัมพันธ์กันอย่างไร  สิ่งสำคัญของการศึกษาชิ้นนี้คือเราสามารถบอกได้ว่าใครจะคิดถึงการฆ่าตัวตาย โดยวิธีที่เขาคิดเกี่ยวกับหัวข้อที่เกี่ยวกับความตาย” จัสต์ ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา วิทยาลัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ดีทริค มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าว

(เมื่อความตายเกิดขึ้นอย่างปริศนา กระบวนการชันสูตรจะถูกนำมาใช้เพื่อหาคำตอบ)

จัสต์และเบรนต์ ผู้เป็นประธานงานวิจัยเรื่องการฆ่าตัวตายและเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตเวช,  กุมารเวชศาสตร์, ระบาดวิทยา, วิทยาศาตร์ทางคลินิกและการนำไปใช้ประโยชน์ ที่มหาวิทยาลัยพิตตส์เบิร์ก เสนอรายการคำ 10 คำที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดเชิงบวก เช่น “อิสระเสรี” และอีก 10 คำที่เป็นเชิงลบ เช่น “ปัญหา” กับกลุ่มคน 17 คนซึ่งทราบมาก่อนว่ามีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย และอีก 17 คนที่เป็นบุคคลปกติ

ทีมวิจัยใช้อัลกอริทึมการเรียนรู้จักรกลกับความคิดหกคำ ซึ่งจำแนกความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มได้ดีที่สุด เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยคิดถึงคำเหล่านั้นทีละคำขณะที่ถูกสแกนสมอง  คำเหล่านั้นได้แก่ ความตาย, ความโหดร้าย, ปัญหา, อิสระเสรี, ความดีและการสรรเสริญ  จากการแสดงภาพสมองเกี่ยวกับแนวคิดทั้งหก โปรแกรมของคณะวิจัยระบุได้ถูกต้องมากถึงร้อยละ 91 ว่าผู้เข้าร่วมวิจัยคนใดมาจากกลุ่มที่เคยฆ่าตัวตายหรืออยู่ในกลุ่มปกติ

เมื่อดูที่กลุ่มที่คิดฆ่าตัวตาย นักวิจัยใช้วิธีเดียวกันเพื่อดูว่าอัลกอริทึมสามารถระบุตัวผู้เข้าร่วมที่เคยพยายามฆ่าตัวตายจากกลุ่มที่คิดแต่เรื่องนี้ได้หรือไม่  โปรแกรมดังกล่าวก็สามารถจำแนกผู้เข้าร่วมวิจัยที่เคยฆ่าตัวตาย 9 คน ซึ่งถูกต้องถึงร้อยละ 94  “การทดสอบวิธีการนี้ขั้นต่อไปจะทำในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่และกว้างขึ้น ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถที่จะทำนายพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในอนาคตได้ และสามารถให้แนวทางการระบุ เฝ้าระวัง และอาจแทรกแซงแก่แพทย์ ซึ่งจะเปลี่ยนความคิดซึ่งมักบอกลักษณะของบุคคลที่จะฆ่าตัวตายอย่างจริงจังได้ในอนาคต” เบรนต์กล่าว

(กลุ่มผู้สูงอายุในนิวซีแลนด์รวมกลุ่มกันเพื่อรับมือกับความตาย)

เพื่อจะเข้าใจต่อไปว่า สิ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายและไม่ฆ่าตัวตาย มีแบบแผนการทำงานของสมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความคิดเฉพาะอย่างไร จัสต์และเบรนต์ใช้ข้อมูลจากคลังของเอกลักษณ์ทางประสาทของอารมณ์ โดยเฉพาะความเศร้า ความอับอาย ความโกรธ และความภาคภูมิใจ เพื่อวัดปริมาณของอารมณ์แต่ละประเภท ซึ่งถูกกระตุ้นในสมองของผู้ข้าร่วมวิจัยด้วยความคิดทั้งหกแบบ  โปรแกรมการเรียนรู้จักรกลสามารถทำนายกลุ่มของผู้เข้าร่วมได้อย่างถูกต้องร้อยละ 85 บนพื้นฐานของความแตกต่างกันของเอกลักษณ์ทางอารมณ์ที่เกิดจากความคิดชนิดต่างๆ

“คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายมีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่แตกต่างออกไปเมื่อเขามีความคิดต่างๆ ในการทดสอบ  ตัวอย่างเช่น ความคิดเกี่ยวกับความตายกระตุ้นความน่าอับอายและความเศร้ามากกว่าในกลุ่มที่คิดเรื่องการฆ่าตัวตาย  ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นอีกนิดนี้อาจช่วยแนะหนทางสู่การรักษาซึ่งเปลี่ยนการตอบสนองทางอารมณ์ของความคิดต่างๆ”  นักวิจัยทั้งสองหวังว่างานวิจัยทางประสาทวิทยาการรับรู้จะช่วยรักษาชีวิตเอาไว้ได้

 

อ่านเพิ่มเติม

ฤาความตายหาใช่การลาจาก

Recommend