พบแหล่งน้ำสำรองบนดาวอังคาร

พบแหล่งน้ำสำรองบนดาวอังคาร

พบแหล่งน้ำสำรองบนดาวอังคาร

รอบๆ พื้นที่ในภูมิภาคตอนกลางของดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์ค้นพบร่องรอยที่บ่งชี้ว่า ดาวอังคารมีน้ำ จากชั้นน้ำแข็งที่ฝังอยู่ภายใต้พื้นดินสีแดงของดาวเคราะห์ดวงนี้ การค้นพบนี้เป็นการค้นพบครั้งสำคัญขององค์ความรู้ด้านธรณีวิทยาบนดาวอังคาร และสร้างความหวังใหม่ให้แก่มนุษย์ดาวอังคารในอนาคต

“นี่คือหน้าต่างบานใหม่ที่จะพาเราเข้าถึงชั้นน้ำแข็งใต้ดินของดาวอังคาร” Colin Dundas นักธรณีวิทยาจากกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบชั้นน้ำแข็งนี้กล่าว

ย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยมีทฤษฎีไว้แล้ว ว่าดาวอังคารน่าจะมีน้ำแข็งกักอยู่ใต้ดิน ในปี 2002 ยานสำรวจจากภารกิจ Nasa Odyssey ได้สแกนพื้นผิวจากทางอากาศและค้นพบลักษณะบางอย่างที่บ่งชี้ว่ามีน้ำแข็งอยู่ใต้ดิน ในปี 2008 ยานสำรวจจากภารกิจ Nasa Phoenix ได้ขุดเอาน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือของดาวอังคารขึ้นมาตรวจสอบ

และในปลายปี 2016 ข้อมูลจากยานสำรวจ MRO ยืนยันว่ามีชั้นน้ำแข็งถูกฝังอยู่ใต้พื้นของดาวอังคารในปริมาณเทียบเท่ากับทะเลสาบสุพีเรีย ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ แต่จนถึงทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจกับมัน ตลอดจนขอบเขตที่มนุษย์สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำเหล่านี้ได้

พื้นที่แปดแห่งที่อยู่ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ประกอบไปด้วย หน้าผาสูงชันที่มีลักษณะคล้ายกับการตัดแบ่งเค้ก กระบวนการกัดเซาะได้เผยให้เห็นชั้นหินและชั้นน้ำแข็ง นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าชั้นน้ำแข็งดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ระดับความลึก 3 – 6 ฟุต จากหิมะครั้งใหญ่ที่เคยตกมาแล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน รายงานจาก Dundas

“ภาพถ่ายเหล่านี้มันเจ๋งสุดๆ ที่มีน้ำแข็งอยู่จริงตามทฤษฎี” Bethany Ehlmann นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้กล่าวชื่นชม “นอกเหนือไปจากแหล่งน้ำ เรายังสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้จากชั้นน้ำแข็งเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับที่เราทำกับชั้นน้ำแข็งในโลก”

การค้นพบครั้งนี้ยังสร้างความหวังใหม่ให้แก่บรรดานักบินอวกาศในอนาคตที่จะเป็นผู้บุกเบิกดาวอังคาร ว่าพวกเขาจะไม่ต้องเผชิญกับการขาดน้ำ ด้วยการสกัดน้ำออกมาจากสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของดาวแทน ซึ่งนอกเหนือจากจะใช้ดื่มแล้วยังอาจต่อยอดไปสู่การผลิตออกซืเจน ไฮโดรเจน หรือก๊าซมีเทนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงของจรวดได้อีกด้วย

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

ดาวอังคารมีน้ำ
ภาพถ่ายชุดใหม่ที่เผยให้เห็นถึงชั้นน้ำแข็งใต้ดินซึ่งอยู่ลึกลงไปราว 3 – 6 ฟุต
ในปี 2004 ยานสำรวจค้นพบทรายที่จับตัวเป็นทรงกลม พวกเขาเรียกมันว่า “blueberries” รูปทรงกลมๆ ที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากตะกอนในน้ำ
พื้นที่ลาดลุ่มน้ำของดาวอังคาร
ในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบริ้วเส้นสีดำตามเนินเขา ในตอนแรกพวกเขาเชื่อว่ามันคือการไหลของน้ำ แต่ในภายหลังพบว่าเป็นเพียงทรายที่ไหลอย่างต่อเนื่อง
ตุลาคม ปี 2017 นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า 3.7 ล้านปีก่อน ดาวอังคารประกอบด้วยมหาสมุทรกว้างใหญ่ที่ประกอบด้วยปล่องน้ำร้อน และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพอสำหรับการมีสิ่งมีชีวิตโบราณ
ลักษณะของพื้นผิวที่คล้ายกับว่าเคยเป็นลำห้วยมาก่อน
ในปี 2012 ยานสำรวจพบร่องรอยบ่งชี้ว่าในอดีตดาวอังคารมีลำธารไหลเชื่อมแตกแขนงทั่วพื้นผิว พวกเขาค้นพบกรวดโบราณ ซึ่งเป็นชนิดแรกที่พบบนดาวอังคาร
หินดานบนดาวอังคาร ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าน้ำและหินมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร จึงเกิดเป็นหินรูปร่างดังกล่าวขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม : ความรู้ประจำวัน : ลงจอดยานบนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องง่ายความรู้ประจำวัน : มหาสมุทรบนดาวอังคารหายไปไหน?

Recommend