วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

คนที่จิตใจโอบอ้อมอารีที่สุดกับอันธพาลใจบาปหยาบช้าที่สุด เป็นตัวอย่างของสัญชาตญาณที่ดีที่สุดและเลวที่สุดของเรา บนปลายด้านหนึ่งของสเปกตรัมศีลธรรมคือการเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และลักษณะทางศีลธรรมอื่นๆที่เราถือกันว่าเป็นความดีงาม ส่วนบนปลายอีกด้านหนึ่งคือความเห็นแก่ตัว ความรุนแรง และแรงกระตุ้นเพื่อทำลายล้างที่เรามองว่าเป็นความชั่วร้าย นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า มนุษย์วิวัฒน์ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เพราะการร่วมมือกันภายในกลุ่มสังคมขนาดใหญ่นั้นจำเป็นต่อความอยู่รอด แต่เพราะกลุ่มต่างๆต้องแย่งชิงทรัพยากรกัน ความเต็มใจที่จะทำร้ายหรืออาจถึงกับสังหารศัตรูจึงสำคัญมากเช่นกัน “เราเป็นชนิดพันธุ์ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มสังคมมากที่สุดในโลก และเรายังเป็นชนิดพันธุ์ที่มีพฤติกรรมรุนแรงมากที่สุดในโลกด้วย” ชอง เดอเซอตี (Jean Decety) นักประสาทวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าว “เรามีสองหน้าเพราะทั้งสองหน้าสำคัญต่อความอยู่รอด”

แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยมีความก้าวหน้าสำคัญในการทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งที่เป็นแรงผลักดันความดีและความชั่ว ทั้งสองสิ่งดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับลักษณะทางอารมณ์ที่สำคัญยิ่ง นั่นคือความร่วมรู้สึก (empathy) ซึ่งเป็นความสามารถภายในของสมองที่รับรู้ว่าคนอื่นกำลังมีความรู้สึกอย่างไร นักวิจัยพบว่า ความร่วมรู้สึกเป็นเชื้อเพลิงที่เติมพลังให้ความเมตตากรุณาในหัวใจของเรา ผลักดันเราให้ช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก การศึกษายังตามรอยพฤติกรรมรุนแรง อันธพาล และต่อต้านสังคมกลับไปถึงการขาดความร่วมรู้สึก ซึ่งดูเหมือนว่ามีต้นตอมาจากวงจรประสาทที่บกพร่อง

ศูนย์การบำบัดเยาวชนเมนโดตาในรัฐวิสคอนซินเป็นที่รองรับผู้กระทำความผิดร้ายแรงที่ยังเป็นวัยรุ่น โปรแกรมบำบัด ช่วยวัยรุ่นหลายคนจากการกลายเป็นอาชญากรไปตลอดชีวิต เยาวชนจะได้รับหรือเสียสิทธิพิเศษสำหรับวันต่อไปอย่างการได้รับอนุญาตให้เล่นวิดีโอเกมโดยอ้างอิงจากความประพฤติในแต่ละวัน วิธีนี้ยอมให้พวกเขาไถ่บาปตัวเองทุกๆ 24 ชั่วโมง เด็กชายในภาพนี้ถือกราฟคะแนนเฉลี่ยแต่ละสัปดาห์ของเขาในช่วงเวลาหนึ่งปี

ในอดีตนักวิจัยเคยคิดว่าเด็กไม่สนใจเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของคนอื่น แต่การค้นพบเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กทารกมีความร่วมรู้สึกมานานก่อนที่จะลืมตาดูโลก มายัน เดวิดอฟ (Maayan Davidov) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮีบรูในเมืองเยรูซาเลมและเพื่อนร่วมงานได้ทำการศึกษาหลายอย่างในด้านนี้ โดยวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กเมื่อเห็นใครบางคนตกอยู่ในอันตราย เช่น เด็กร้องไห้ ผู้ทำการทดลอง หรือแม่ของเด็กเองทำทีว่าเจ็บปวด แม้เด็กจะมีอายุน้อยกว่าหกเดือน ทารกหลายคนก็ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นเหล่านั้นด้วยการแสดงออกทางสีหน้าที่บ่งบอกถึงความกังวล เด็กบางคนแสดงท่าทางห่วงใย ในขวบปีแรกทารกยังแสดงสัญญาณของความพยายามทำความเข้าใจความทุกข์ทรมานที่พวกเขามองเห็น เด็กอายุ 18 เดือนมักจะแปลความร่วมรู้สึกของพวกเขาไปเป็นพฤติกรรมเชิงบวกทางสังคมอย่างการกอดหรือให้ของเล่นแก่เด็กที่ได้รับความเจ็บปวดเพื่อช่วยปลอบโยน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กทุกคนจะเป็นเช่นนั้น ในเด็กส่วนน้อย เริ่มตั้งแต่ขวบปีที่สองของชีวิต นักวิจัยเห็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ความเฉยเมยที่เกิดขึ้นเอง” ต่อผู้อื่น “เมื่อมีคนบอกว่าเขาทำให้ตัวเองบาดเจ็บ” แคโรลิน ซาห์น-แวกซ์เลอร์ (Carolyn Zahn Waxler) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวและเสริมว่า “เด็กเหล่านี้จะหัวเราะเยาะหรือแม้แต่เย้ยหยันด้วยคำพูดประมาณว่า ‘เธอไม่เจ็บหรอก’ หรือ ‘เธอควรจะระวังมากกว่านี้’ โดยกล่าวด้วยน้ำเสียงตัดสิน” เมื่อติดตามเด็กเหล่านี้ไปจนโตเป็นวัยรุ่น ซาห์น-แวกซ์เลอร์ และซูฮยุนรี เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด พบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะมีแนวโน้มเป็นพวกต่อต้านสังคมและมีปัญหาตามมา

ขณะที่การศึกษาอื่นๆวัดความเมินเฉยและการขาดการแสดงออกทางอารมณ์ในวัยรุ่นโดยใช้ชุดคำถาม เช่น ผู้เข้าร่วมการวิจัยรู้สึกผิดหรือไม่ในการกระทำผิด พวกที่ได้คะแนนสูงสำหรับลักษณะ “การเมินเฉยไร้อารมณ์” มักจะมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง นักวิจัยยังพบอีกว่า วัยรุ่นเหล่านี้บางคนลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรุนแรง บางคนมีแนวโน้ม จะกลายเป็นพวกจิตใจอันธพาลเต็มขั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวคือเป็นคนเลือดเย็น เจ้าเล่ห์เพทุบาย และไม่สะดุ้งสะเทือนขณะกระทำความผิดเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้

12 มิถุนายน ปี 2016 | ไนต์คลับพัลส์ ออร์แลนโด ฟลอริดา | เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 53 ราย ในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ปี 2001 มือปืนผู้จงรักภักดีต่อกลุ่มไอซิสโจมตีบาร์ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มชายรักร่วมเพศ ผู้ไว้อาลัยกลับไปยังที่เกิดเหตุในวันครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์

เคนต์ คีห์ล (Kent Kiehl) นักประสาทวิทยาศาสตร์ ใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาค้นคว้าความแตกต่างดังกล่าวโดยการสแกนสมองของนักโทษที่ถูกคุมขัง ด้วยการใช้เครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอที่ติดตั้งไว้ภายในรถพ่วง คีห์ลและเพื่อนร่วมงานสร้างภาพจากนักโทษกว่า 4,000 คนที่ถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2007 เพื่อทำการวัดผลกิจกรรมในสมองและขนาดของสมองในบริเวณต่างๆ

เมื่อนักวิจัยขอให้นึกถึงคำที่สื่อถึงอารมณ์ที่พวกเขาจดจำได้จากกิจกรรมก่อนหน้า เช่น “ทุกข์ใจ” และ “หน้านิ่วคิ้วขมวด” อาชญากรจิตใจอันธพาลแสดงให้เห็นว่า สมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งเป็นส่วนแรกที่ประมวลผลด้านอารมณ์มีกิจกรรมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับนักโทษที่ไม่มีภาวะจิตใจอันธพาล

ส่วนในกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อทดสอบการตัดสินใจด้านศีลธรรม นักวิจัยขอให้นักโทษประเมินค่าความน่ารังเกียจของภาพที่ปรากฏขึ้นชั่วครู่บนจอ เช่น การเผาไม้กางเขนโดยพวกคลูคลักซ์แคลน หรือใบหน้าที่ถูกตีจนเลือดอาบ แม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะตระหนักถึงความรุนแรงด้านศีลธรรมในภาพเหล่านั้นได้แทบไม่ต่างกัน แต่พวกจิตใจอันธพาลมีแนวโน้มที่จะแสดงการกระตุ้นที่อ่อนกว่าในสมองบริเวณที่มีบทบาทในการใช้เหตุผลทางศีลธรรม

14 ธันวาคม ปี 2012 | โรงเรียนประถมศึกษาแซนดีฮุก | เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 2 ราย เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนหกคนและเด็ก 20 คนเสียชีวิตในเหตุกราดยิงที่เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนตทิคัต คนร้ายยังสังหารแม่ของตนเองด้วย โรงเรียนถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่ ไม่มีร่องรอยของโรงเรียนเก่าหลงเหลืออยู่แม้แต่เสาธง

จากการค้นพบเหล่านี้และอื่นๆที่ได้ผลคล้ายคลึงกัน คีห์ลเชื่อว่า ผู้มีจิตใจอันธพาลมีความบกพร่องในระบบโครงสร้างต่างๆของสมองที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งรวมถึงสมองส่วนอะมิกดาลาและเปลือกสมองส่วนออร์บิโตฟรอนทัล ซึ่งช่วยในการประมวลผลด้านอารมณ์ ตัดสินใจ ควบคุมแรงกระตุ้น และตั้งเป้าหมาย “โดยพื้นฐานแล้วนักโทษที่มีลักษณะจิตใจอันธพาลอย่างรุนแรง มีส่วนเนื้อเทา (gray matter) ในโครงสร้างเหล่านั้นของสมองน้อยกว่านักโทษอื่นๆประมาณร้อยละห้าถึงเจ็ด”  คีห์ลบอก  ปรากฏว่าภาวะจิตใจอันธพาลจะชดเชยความบกพร่องนี้โดยการใช้สมองส่วนอื่นในการคิดเลียนแบบสิ่งที่ควรเป็นการแสดงอารมณ์ “กล่าวคือผู้มีจิตใจอันธพาลต้อง คิด ว่าอะไรถูกหรือผิด ในขณะที่พวกเรา ใช้ความรู้สึก ตัดสิน” คีห์ลเขียนไว้ในรายงาน

ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจซึ่งนำไปสู่ความเมตตากรุณาของเราอาจมีมาแต่กำเนิด แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับที่ความโน้มเอียงของการมีจิตใจอันธพาลหรือบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมไม่ได้ติดแน่นกับตัวเด็กจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยได้แสดงความเป็นไปได้ที่จะยับยั้งความชั่วร้ายตั้งแต่เนิ่นๆ และทำให้สัญชาตญาณเชิงบวกทางสังคมของเราแข็งแกร่งขึ้น

เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ

ภาพถ่าย ลินน์ จอห์นสัน

1 ตุลาคม ปี 2017 | ลาสเวกัส เนวาดา | เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 546 ราย ชายพร้อมปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติซึ่งถูกดัดแปลงให้ยิงได้เร็วขึ้น สาดกระสุนมากกว่าหนึ่งพันนัดลงมาจากชั้น 32 ของโรงแรมใส่ฝูงชนในงานเทศกาลดนตรี เหตุการณ์กราดยิงใส่ฝูงชนเกิดบ่อยขึ้นมากนับตั้งแต่ปี 2011

 

อ่านเพิ่มเติม : วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการจูบ, วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการร้องไห้

Recommend