ร้านยาเคลื่อนที่ในเฮติ

ร้านยาเคลื่อนที่ในเฮติ

ร้านยาเคลื่อนที่ ในเฮติ

สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยในเฮติ พ่อค้าเร่ข้างถนนคือ ร้านยาเคลื่อนที่ สำหรับพ่อค้า นี่คือหนทางหาเลี้ยงชีพเพื่อให้มีข้าวสารกรอกหม้อ “คุณเห็นไหม ผมวางแอมพิซิลลินไว้ข้างๆ ไทลีนอล แผงยาเม็ดสีชมพูอยู่คู่กับแผงยาเม็ดสีฟ้า สีต้องดูสวยเข้ากันด้วย ถ้าสินค้าของผมไม่เด่นสะดุดตา ก็คงไม่มีใครซื้อหรอกครับ”

อาริสติล โบนาร์ด ขยับถังสีฟ้าบนบ่าข้างขวาให้เข้าที่ขณะพูดไปด้วย  สิ่งที่อยู่ข้างในคือแผงยาหลากสีสันที่กองสุมสูงขึ้นไปราวกับหอคอยย่อมๆ  ด้านบนมีกรรไกรเสียบอยู่คู่หนึ่งไว้สำหรับตัดแบ่งแผงยา  สินค้าทั้งหมดยึดอยู่ด้วยกันด้วยแผ่นยางเส้นยาว กว่า 20 ปีมาแล้ว  ที่โบนาร์ดท่องไปตามท้องถนนของกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวงของเฮติ  เพื่อเร่ขายยาเหล่านี้ แต่เขาไม่ใช่เภสัชกร  เป็นเพียงพ่อค้า

ในอพาร์ตเมนต์ห้องเล็กๆ ในย่านปาโกต์ของเมืองหลวงแห่งนี้  พ่อค้าแม่ขายอย่างโบนาร์ดมาเข้าแถวรอให้เปาโล วูดส์ และกาบรีแอล กาลิมเบอร์ตี ถ่ายภาพ  ช่างภาพทั้งสองซึ่งอยู่ระหว่างทำงานให้โครงการสำรวจการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกว่า 20 ประเทศ  สงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวของพ่อค้าเร่ขายยาเหล่านี้มานานแล้ว

สำหรับชาวเฮติจำนวนมาก  พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้คือแหล่งที่มาของยารักษาโรค  “เภสัชกรคืออาชีพใกล้สูญพันธุ์ครับ” ลีโอเนล  เอเตียน  ผู้นำเข้ายาในท้องถิ่น  อธิบาย  “คนที่นี่มองว่ายาเป็นเหมือนสินค้าทั่วไปครับ”

ร้านขายยาเคลื่อนที่เหล่านี้  อาจดูเหมือนผลงานศิลปะร่วมสมัยหรือแผงขายลูกกวาด  แต่ก็อาจเป็นอันตรายเหมือนเกมเดิมพันชีวิต  การกำกับดูแลที่หย่อนยานของภาครัฐเปิดช่องให้พ่อค้าแม่ขายที่ไม่มีความรู้  หรือไม่ได้รับการอบรมซื้อหาและขายผลิตภัณฑ์ยา  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาชื่อสามัญจากจีน  ยาเม็ดหมดอายุ  ยาของกลางที่ถูกยึดและนำเข้ามาจากสาธารณรัฐโดมินิกัน

ร้านยาเคลื่อนที่
พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้สวมบททั้งเภสัชกรและคนที่คอยรับฟังเรื่องราว  “กับพวกเรา  พวกเขาไม่มีความลับหรอกครับ”  เรโนลด์ แจร์แมง วัย 26 ปี  บอก  “พวกเขาบอกเราทุกเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเชื้อ  อาหารไม่ย่อย  หรือเรื่องบนเตียง  แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร พวกเรามียาแก้เสมอ”

แม้กิจกรรมนี้จะผิดกฎหมาย  แต่กฎหมายก็แทบไม่เคยบังคับใช้โดยหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงสาธารณสุขและประชากรของเฮติ  ดังนั้น  พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้จึงขายทุกอย่างที่พวกเขาพอจะหามาได้ ตั้งแต่ยาทำแท้งไปจนถึงไวอากรา  บางครั้ง  พวกเขาให้คำแนะนำผิดๆ แก่ลูกค้า  เหมือนอย่างที่พ่อค้าคนหนึ่งแนะนำลูกค้าวัยรุ่นให้กินยาปฏิชีวนะแรงๆ เพื่อรักษาสิว

“ทุกครั้งที่เห็นคนขายยาข้างถนน  ฉันรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า” ฟลอรีน  โจเซฟ  ผู้อำนวยการกองเภสัชกรรม  กระทรวงสาธารณสุขเฮติ  บอก  “พวกเขาก็เหมือนระเบิดเวลาดีๆนี่เอง เราแทบไม่มีทางหยุดยั้งคนเหล่านี้ได้เลย”

ในการถ่ายภาพทั้งหมด  วูดส์และกาลิมเบอร์ตีใช้กล้องขนาดใหญ่ (large-format view camera)  กับฟิล์ม 8×10 และกล้องขนาดกลาง (medium-format) แบบดิจิทัล  ใช้ผนังสีขาวแทนฉากหลัง

ระหว่างที่รอถ่ายภาพ  พ่อค้าแม่ขายต่างมองสินค้าของกันและกัน  แต่แทบไม่พูดคุยกัน  นี่เป็นเวลาพักช่วงเดียวของวันอันยาวนานกลางแดดเปรี้ยง  พวกเขาดีใจที่ได้พัก  แต่ก็กังวลว่าจะเสียลูกค้า

วูดส์และกาลิมเบอร์ตีบอกว่า  พวกเขาอยากสื่อสารออกไปว่า  การเข้าถึงยาซึ่งเป็นเรื่องที่คนในประเทศพัฒนาแล้วไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา  คือความท้าทายในหลายประเทศ  ในเฮติ  ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องดิ้นรนกับสิ่งที่พวกเขามีหรือพอหาได้ “ผมเลือกอาชีพนี้ก็เพราะชีวิตที่นี่ยากลำบากครับ”  โบนาร์ดบอก  “ผมอยากให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ  และเราทุกคนล้วนจำเป็นต้องใช้ยาครับ”

ร้านยาเคลื่อนที่ ร้านยาเคลื่อนที่

จูแลน  แคลร์เจร์  วัย 37 ปี  และสามีชื่อ เปแลจ  อาริสติล  วัย 35 ปี มี ลูกด้วยกัน 5 คน  เธอคิดอยากเลิกอาชีพขายยา  ไปขายกล้วยหอมและไข่ต้มแทน  ส่วนอาริสติลเองก็อาจลงเอยด้วยการเลิกอาชีพนี้เช่นกัน  เพราะปลายปีนี้  หลังเรียนจบด้านเทววิทยา  เขาจะได้รับคุณวุฒิให้เป็นนักเทศน์ได้

ร้านยาเคลื่อนที่ ร้านยาเคลื่อนที่

อาดี  ดูเม วัย 38 ปี  และอาริสติล  โบนาร์ด  วัย 36 ปี  ขายยาบนท้องถนน  พ่อค้าแม่ค้าบางรายมีแผงค้าอยู่ในตลาด  บางรายเอายาใส่กระเป๋าเดินทางขึ้นรถโดยสารประจำทางในกรุงปอร์โตแปรงซ์  เพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ

อ่านเพิ่มเติม

อยากนอนหลับใช่ไหม ลองอ่านเรื่องนี้สิ

Recommend