บรรพบุรุษชาวอังกฤษมีผิวดำ, ผมหยิก และตาสีฟ้า

บรรพบุรุษชาวอังกฤษมีผิวดำ, ผมหยิก และตาสีฟ้า

บรรพบุรุษชาวอังกฤษมีผิวดำ, ผมหยิก และตาสีฟ้า

ใบหน้าของโครงกระดูกอายุ 10,000 ปี ก่อนที่มีชื่อเรียกว่า “Cheddar Man” เพิ่งจะเผยโฉมสู่สาธารณะ บุรุษจากยุคโบราณผู้นี้มีดวงตาสีฟ้า, ผมหยิกและผิวสีดำ

“มันดูเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับจีโนมของมนุษย์โบราณครับ” Mark Thomas นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าว

ที่ว่าน่าประหลาดใจก็เพราะ ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณผู้นี้เผยให้เห็นว่าเขามีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับมนุษย์โบราณคนอื่นๆ จากยุคหินที่เคยพบในสเปน, ฮังการีและลักเซมเบิร์กก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่า Cheddar Man เป็นหนึ่งในกลุ่มนักล่าสัตว์โบราณที่อพยพมายังยุโรป เมื่อราว 11,000 ปีก่อน หลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง

สำหรับชื่อของเขา Cheddar Man มาจากสถานที่พบ หาใช้ผู้ให้กำเนิดชีสยอดนิยมแต่อย่างใด โครงกระดูกโบราณนี้ถูกพบที่หมู่บ้าน Cheddar Gorge ในมณฑลซัมเมอร์เซต ของประเทศอังกฤษ (สถานที่เดียวกันที่ให้กำเนิดเชดด้าชีส)

Thomas เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในการฟื้นคืนใบหน้าให้แก่ Cheddar Man โดยมีจุดเริ่มต้นจากการวัดกระโหลกศีรษะ

“เขามีกระดูกหุ้มศีรษะที่ใหญ่และหนา ในขณะที่ขากรรไกรมีขนาดเล็ก” Thomas กล่าว จากนั้นทีมนักวิจัยได้จัดลำดับจีโนมของ Cheddar Man โดยชายผู้นี้เป็นชาวอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำแผนที่จีโนมไว้ได้ ซึ่งจากลำดับจีโนมทั้งหมดนี้ช่วยฉายภาพให้เห็นว่ามนุษย์โบราณผู้นี้มีสีผิว, สีตา และลักษณะของเส้นผมเป็นอย่างไร

เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมด ในที่สุดพวกเขาก็ร่วมกันคืนใบหน้าให้แก่ Cheddar Man โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Adrie และ Alfons Kennis ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างโมเดลชาวเนเธอร์แลนด์ พวกเขาใช้เทคโนโลยี 3D สแกนและการพิมพ์สามมิติเพื่อสร้างกล้ามเนื้อบนใบหน้าขึ้นมาจากรูปทรงของกระโหลกศีรษะ

(เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติช่วยเผยโฉมหน้าของราชินีอาณาจักรโบราณในเปรูมาแล้ว)

 

สร้างสีสันจากยีนโบราณ

ด้วเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้า จึงช่วยฉายภาพให้ทีมนักวิจัยเห็นว่าแท้จริงแล้ว หน้าตาของ Cheddar Man เป็นอย่างไร

Miguel Vilar ผู้จัดการด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการจีโนม โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้เล่าให้ฟังว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องจับจ้องไปที่ข้อมูลจุดเป็นพันล้านจุด โดยที่บางครั้งข้อมูลเหล่านี้ไม่มีข้อมูลเก่าให้เปรียบเทียบเนื่องจากเป็นดีเอ็นเอโบราณ นับเป็นเรื่องดีที่เทคนิคการเรียงลำดับจีโนมแบบใหม่ช่วยให้การอ่านค่าจากโครโมโซมเหล่านี้ง่ายขึ้นมาก

“มันเหมือนกับการมองไปที่หนังสือเก่าโบราณ และดูที่บททั้งหมด แทนที่จะไล่ดูทีละตัวอักษร ด้วยวิธีนี้เราก็จะเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้” เขาอธิบาย “สีของดวงตาเกิดจากยีนเฉพาะ ส่วนสีผิวเกิดจากหลากหลายตัวแปร”

อย่างไรก็ตามการที่ชาวอังกฤษวิวัฒน์เปลี่ยนสีผิวจากสีเข้มมาเป็นสีสว่างขึ้นได้อย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา

“เราคิดว่าเป็นเพราะสีผิวที่สว่างกว่าจะช่วยให้รับรังสียูวีได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้มากขึ้น” Vilar กล่าว ซึ่งในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น มนุษย์โบราณต้องการการดูดซับแสงอาทิตย์มากขึ้น เพื่อช่วยให้ร่างกายผลิตวิตามินสำหรับเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

“ในมุมมองของผม นั่นเป็นทฤษฎีที่ดีที่สุดที่สนับสนุนว่าเหตุใดผิวของคนเราจึงขาวขึ้น” Thomas กล่าว “แต่นั่นก็ยังไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับที่มาของสีตา บางทีอาจเกี่ยวกับการคัดสรรทางเพศ ซึ่งเราเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีนัก”

อีกทฤษฎีหนึ่งจากผลการศึกษาในปี 2014 ชี้ว่า เมื่อมนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานทำเกษตรกรรม ส่งผลให้อาหารของพวกเขามีความหลากหลายน้อยลง จึงต้องพึ่งพาการดูดซับวิตามินดีจากแสงแดดมากขึ้น ส่วนในปัจจุบัน อาหารการกินของเรามีความหลากหลายมากพอที่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวิตามินดีจากแสงแดดอีกต่อไป

ทั้งนี้ประเด็นเรื่องสีผิวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในโปรเจคนี้เท่านั้น ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังมองหาว่าอาหารการกินของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมีส่วนช่วยขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มปริมาณประชากรเราอย่างไรบ้างในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา

“ถ้าคุณสามารถหาการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้” เขากล่าว “คุณจะสามารถมองเห็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นได้”

 

อ่านเพิ่มเติม

เผยโฉมใบหน้าวัยรุ่นมนุษย์โบราณ

Recommend