๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : พระอัจฉริยภาพเกริกไกร

๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : พระอัจฉริยภาพเกริกไกร

รอบนักษัตรที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๘)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในจิตรกรรมและดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้ว ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๐ ทรงงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่องโดยทรงอาศัยเวลาในช่วงค่ำที่ว่างจากพระราชกิจต่าง ๆ ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีนับร้อยองค์ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ ภาพเหมือนจริงหรือแนวสัจนิยม ภาพที่สร้างสรรค์ตามคตินิยมแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ และภาพแนวนามธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมผลงานของศิลปินท่านอื่น ๆ และทรงค้นคว้าสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทางด้านดนตรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้รวมทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ส่วนใหญ่จะทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นก่อน แล้วทรงมอบให้ผู้อื่นนิพนธ์หรือประพันธ์คำร้อง มีเพียงเพลง ”รัก” และเพลง ”เมนูไข่” ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นโดยมีบทประพันธ์คำร้องอยู่ก่อน เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เพลงแสงเทียน และเพลงพระราชนิพนธ์หลังสุดคือ เพลงเมนูไข่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงแสงเทียนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ แต่ทรงแก้ไขปรับปรุงและนำออกบรรเลงในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพลงพระราชนิพนธ์ที่นำออกบรรเลงเป็นเพลงแรกคือ เพลงยามเย็น เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่สามแต่ทรงนำออกบรรเลงเป็นเพลงที่สอง ในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้รับความนิยมสูงสุด คือ เพลงสายฝน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้อง และได้รับเกียรติจากองค์การยูเนสโกประกาศให้ใช้เป็นเพลงตัวแทนที่แสดงถึงชนชาติในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงเพลงสายฝนว่า มีเรื่องที่เป็นความลับของเพลงนี้ว่า ”เมื่อแต่งเป็นเวลา ๖ เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริได้เขียนจดหมายถึง บอกว่า มีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนน ได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงเขาไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูง ซักผ้าได้สะอาด…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัย ๓ เพลง คือ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๑ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานเป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๖ เพลงยูงทอง พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๒ เพลงเกษตรศาสตร์ พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา ”อัครศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ทรงพระราชนิพนธ์ผลงานไว้หลายองค์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงแปลบทความจากข่าวไว้ ๙ เรื่อง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ อีก ๑ เรื่อง ส่วนหนังสือพระราชนิพนธ์ที่จัดพิมพ์เป็นเล่มนั้น เรื่องแรกทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์,๒๔๘๙ เรื่องต่อมาเป็นบทพระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ทรงเริ่มแปลเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ สำเร็จในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ บทพระราชนิพนธ์แปลอีกเรื่องหนึ่งคือ ติโต ตามมาด้วยพระราชนิพนธ์ เรื่องทองแดง และ เรื่องทองแดงฉบับการ์ตูน ทรงเล่าถึงสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ ”ทองแดง”

หนังสือพระราชนิพนธ์สำคัญที่ทรงพระราชนิพนธ์ และโปรดเกล้าฯให้เหล่าศิลปินมีชื่อ ๘ ท่าน เขียนภาพจิตรกรรมประกอบคือ เรื่อง พระมหาชนก ที่โปรดเกล้าฯให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าเฝ้าฯรับฟังพระราชดำรัสเรื่องพระราชนิพนธ์นี้ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ นอกจากบทพระราชนิพนธ์และภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่ารวมทั้งการจัดพิมพ์อย่างประณีตสวยงามที่สุดแล้ว พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกยังแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และโหราศาสตร์ไทย ต่อมาพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกนี้ยังได้รับการจัดพิมพ์เป็น พระมหาชนกฉบับการ์ตูน ด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ด้อยไปกว่าด้านอื่น ๆ เลย กีฬาที่ทรงสนพระราชหฤทัยและมีความเชี่ยวชาญคือ เรือใบ แบดมินตัน เทนนิส และยิงปืน โดยเฉพาะกีฬาเรือใบนั้นทรงแสดงให้ปรากฏถึงพระอัจฉริยภาพอันสูงยิ่งเมื่อคราวมหกรรมกีฬาแหลมทองหรือ SEAP ames ครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีพ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อทรงได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ ทรงปฏิบัติพระองค์เสมือนนักกีฬาทีมชาติอย่างเคร่งครัดทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมและรับเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเช่นเดียวกับนักกีฬาไทยคนอื่น ๆ ซึ่งผลการแข่งขันก็ปรากฏว่าพระองค์ทรงชนะการแข่งขันได้รับรางวัลเหรียญทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดกีฬาเรือใบ และทรงเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาแหลมทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ ”เรือใบมด” ขึ้นและทรงจดสิทธิบัตรเป็นสากลที่ประเทศอังกฤษ ในประเภทเรือ International Moth Class คำว่า ”มด” ทรงแปลงจากคำว่า ”ม็อธ-Moth” ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อมด ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” เรือใบมดมีขนาดความยาว ๑๑ ฟุตกว้าง ๔ ฟุต ๑๑ นิ้ว เนื้อที่ใบเรือ ๗๒ ตารางฟุต เคยทรงนำลงแข่งทดลองที่ประเทศอังกฤษ และได้อันดับที่ ๑ ในบรรดาเรือขนาดเดียวกัน ต่อมาทรงประดิษฐ์ในรุ่นซูเปอร์มดและไมโครมด เพิ่มขึ้นมา มีการจัดแข่งขันเรือใบมดในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง รวมทั้งกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๕๒๘

จากการที่ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองและทรงได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธีทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัล ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงกำหนดเอาวันที่ ๑๖ ธันวาคม เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”

 

 

อ่านเพิ่มเติม : ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ปวงประชามหาปีติ, ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : เสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรทั่วหล้า

Recommend