รักลับๆ ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับ ‘ลีน่า’ ไวโอลินตัวโปรด

รักลับๆ ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับ ‘ลีน่า’ ไวโอลินตัวโปรด

รักลับๆ ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับ ‘ลีน่า’ ไวโอลินตัวโปรด

วันหนึ่งเขาจะพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพและสมการโด่งดังที่สุดเท่าที่เคยเขียนกันมาอย่าง E= mc2 เขาจะช่วยวางรากฐานให้ทฤษฎีควอนตัมสมัยใหม่ ได้รับรางวัลโนเบล และกลายเป็นบุคคลแรกๆที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงคำว่า”อัจฉริยะ” แต่เอลซา ไอน์สไตน์ เคยบอกกับแขกที่มาเยี่ยมคนหนึ่งว่า เธอตกหลุมรักอัลเบิร์ต ญาติหนุ่มรูปหล่อ ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปเธอบอกว่า “เป็นเพราะเขาเล่นไวโอลินเพลงของโมซาร์ตได้เพราะมาก” หรือบางทีมันอาจไม่ใช่เหตุผลที่ต่างออกไปขนาดนั้นก็ได้ ดนตรีเป็นอะไรมากกว่าเรื่องปลีกย่อยในงานของไอน์สไตน์ เพราะเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่เขาคิดและทำ

“ดนตรีช่วยเขาขณะขบคิดเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ” เอลซาผู้กลายเป็นภรรยาคนที่สองของเขาในปี 1919 กล่าว “เขาไปนั่งใน ห้องทำงาน กลับออกมา คีย์เปียโนสองสามคอร์ด จดบันทึกอะไรบางอย่าง แล้วกลับไปค้นคว้าต่อ” นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เคยบอกว่า ถ้าไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาก็คงเป็นนักดนตรีไปแล้วอย่างแน่นอน “ผมนึกภาพชีวิตที่ไม่ได้เล่นดนตรีไม่ออกจริงๆ” เขากล่าว “ฝันกลางวันของผมอยู่ในดนตรี ผมมองชีวิตตัวเองเหมือนท่วงทำนองดนตรี… ผมได้ความรื่นรมย์ส่วนใหญ่ในชีวิตจากดนตรี”

นี่คือความรักที่ต้องอาศัยเวลาเพื่อเปล่งประกาย ไอน์สไตน์อายุ 6 ขวบ ตอนที่พอลลีน แม่ของเขาซึ่งเป็นนักเปียโนที่ประสบความสำเร็จ จัดการให้ลูกชายได้เรียนไวโอลิน แต่การหัดเครื่องดนตรีนี้ก็เหมือนหน้าที่ที่ต้องทำ จนกระทั่งเขาค้นพบไวโอลิน โซนาตาของโมซาร์ตตอนอายุ 13 ปี นับแต่นั้นมา ดนตรีก็กลายเป็นความหลงใหลอันยืนยง

โมซาร์ต เช่นเดียวกับบาคยังคงเป็นนักประพันธ์คนโปรดตลอดชีวิตของเขา นั่นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ดังเช่นที่นักเขียนชีวประวัติหลายคนของไอน์สไตน์ตั้งข้อสังเกตว่า ดนตรีของบาคและโมซาร์ตมีความชัดเจน เรียบง่าย และความสมบูรณ์แบบ เชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอน์สไตน์มองหาในทฤษฎีของเขาเสมอนั่นอาจช่วยอธิบายด้วยว่า เพราะเหตุใดเขาจึงไม่ชอบงานดนตรีในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นระเบียบน้อยกว่า และขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า เช่น วากเนอร์

ในยุคสมัยที่ยังไม่มี iTunes อย่างทุกวันนี้ ไอน์สไตน์พยายามทุกวิถีทางที่จะนำพาดนตรีในรูปแบบที่จับต้องได้ติดตัวเขาไปด้วยเสมอ น้อยครั้งที่ไอน์สไตน์จะไปไหนมาไหนโดยไม่มีกล่องไวโอลินโทรมๆอยู่ข้างกาย ข้างในมักไม่ใช่เครื่องดนตรีชิ้นเดียวกัน ไอน์สไตน์เป็นเจ้าของเครื่องดนตรีหลายชิ้นตลอดชีวิตของเขา แต่ว่ากันว่าเขาเรียกเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเหล่านั้น ด้วยชื่อเล่นเดียวกันที่แฝงความรักใคร่เอ็นดูว่า “ลีนา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกสั้นๆของไวโอลิน ระหว่างเดินทางเขามักจะพกพาลีนา ไปสำหรับเล่นในวงแชมเบอร์ (วงดนตรีขนาดเล็กที่มีเครื่องเล่นน้อยชิ้น) ที่บ้านของใครสักคนตอนเย็นๆ และเขาเองก็มีเพื่อนทางดนตรีมากมาย

ไอน์สไตน์

ในทศวรรษ 1930 เขาและเอลซาลงหลักปักฐานที่พรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซี แทนที่จะกลับบ้านในเยอรมนียุคนาซี พวกเขามักเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะสังสรรค์เล่นวงดนตรีแชมเบอร์ที่บ้านทุกคืนวันพุธ ไอน์สไตน์ให้ความสำคัญกับโอกาสเช่นนั้นมาก ถึงขนาดจัดตารางเวลาของตัวเองใหม่เพื่อให้มั่นใจว่า เขาจะอยู่ร่วมงานได้

คืนวันฮาโลวีน ไอน์สไตน์มักออกไปสร้างความประหลาดใจให้คนที่มา trick-or-treat ด้วยการบรรเลงเพลงรักไวโอลินแบบสดๆ และในช่วงคริสต์มาสเขาจะออกไปร่วมเล่นดนตรีกับกลุ่มนักร้องประสานเสียง แต่เนื่องจากไม่มีบันทึกการเล่นที่ยืนยันได้ว่าเป็นของไอน์สไตน์ จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเขาเล่นได้ดีแค่ไหน ภาพถ่ายใบหนึ่งแสดงให้เห็นท่าทางการเล่นที่แย่ของเขา ไวโอลินย้วยลง คันสีทำมุมพาดสายไวโอลินแทนที่จะตั้งฉาก ความผิดพลาดเหล่านี้ อาจทำให้ครูสอนไวโอลินส่ายหน้า ไอน์สไตน์ยังขึ้นชื่อว่าเล่นไม่ตรงจังหวะ เล่ากันว่า เขาพลาดระหว่างเล่นในวงควอเท็ต (กลุ่มเล่นเครื่องดนตรี 4 ชิ้น) ซึ่งมี ฟริตซ์ เครสเลอร์ นักไวโอลินชั้นครูรวมอยู่ด้วย ฟริตซ์ถึงกับหันมาถามว่า “เกิดอะไรขึ้นครับท่านศาสตราจารย์ คุณนับไม่เป็นเหรอ”

กระนั้นก็มีหลักฐานชี้ว่า เอลซาไม่ได้พูดหรือรู้สึกเกินจริงเกี่ยวกับความสามารถในการเล่นของเขา ตอนอายุ 16 ปี ญาติฝ่ายชายของเธอคนนี้สอบวิชาดนตรีที่โรงเรียนท้องถิ่น ครูผู้คุมสอบบันทึกว่า “นักเรียนที่ชื่อไอน์สไตน์ดื่มด่ำอย่างลึกซึ้งในการแสดง adagio ซึ่งมาจากโซนาตาหนึ่งของเบโทเฟน”

เนิ่นนานหลังจากนั้น สหายคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “มีนักดนตรีมากมายที่มีเทคนิคดีกว่า แต่ไม่มีสักคน ผมเชื่ออย่างนั้น ที่จะเล่นได้อย่างบริสุทธิ์ใจและดื่มด่ำในความรู้สึกเช่นนั้น”

ไอน์สไตน์เล่นดนตรีจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต เมื่ออายุที่มากขึ้นทำให้เขาไม่สามารถควบคุมมือซ้ายได้ดีเหมือนก่อน เขาจึงจำเป็นต้องวางลีนาไว้เช่นนั้น กระนั้น ไอน์สไตน์ก็ไม่เคยหมดความสนใจในดนตรี

ในชีวประวัติที่ตีพิมพ์เผยแพร่ไม่กี่เดือนหลังไอน์สไตน์เสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายน ปี 1955 นักเขียน เจอโรม วิดแมน เล่าถึงงานงานเลี้ยงอาหารค่ำหรูหรางานหนึ่งที่ซึ่งเขานั่งฟังวงดนตรีแชมเบอร์บรรเลงเพลง ระหว่างการขับกล่อม เขาสารภาพกับชายที่นั่งข้างๆว่า เขาหูเพี้ยน“คุณต้องมากับผมนะ” ไอน์สไตน์ ผู้ซึ่งลากวิดแมน ออกจากคอนเสิร์ตและพาไปยังห้องทำงานที่ชั้นบนซึ่งเต็มไปด้วยแผ่นเสียง

ที่นั่นไอน์สไตน์เล่นเพลงบางท่อนของ Bing Crosby, Enrico Caruso และคนอื่นๆ Pop music จากทศวรรษ 1950 ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เทียบเคียงได้กับ Bruno Mars และ Lady Gaga ในยุคปัจจุบัน เขายืนกรานให้วิดแมน ร้องแต่ละท่อนให้ฟัง เพื่อจะฝึกหู  เมื่อไอน์สไตน์รู้สึกพึงพอใจ พวกเขากลับมาที่ชั้นล่าง และวิดแมนก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า เขาสามารถชื่นชมท่วงทำนองของ “Sheep may safely graze” ของบาคได้เป็นครั้งแรก

เรื่อง มิตช์ วอลดรอป

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม

รวมคำทำนายของ สตีเฟน ฮอว์คิง อัจฉริยะแห่งยุคผู้ล่วงลับ

Recommend