สุรา นารี และปัญญา: การสังสรรค์ของชาวกรีกโบราณ

สุรา นารี และปัญญา: การสังสรรค์ของชาวกรีกโบราณ

สุรา นารี และปัญญา: การสังสรรค์ของ ชาวกรีกโบราณ

ซีโนโฟน นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก  เล่าไว้ในหนังสือ “ซิมโพเซียม” ของเขาว่า  วันหนึ่งโสเครติสเดินมากับเพื่อนๆ ตอนที่คาลิอัส ชาวเอเธนส์ผู้มั่งคั่งเข้ามาทักทายและพูดว่า “ข้ากำลังจะจัดงานเลี้ยง และคิดว่าความบันเทิงของข้าจะยิ่งเจิดจรัสหากห้องอาหารของข้าได้รับเกียรติจากบุรุษเช่นท่านซึ่งมีจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์” ในตอนแรกโสเครติสคิดว่า คาลิอัสเยาะเย้ยผมเผ้ากระเซอะกระเซิงของเขา แต่คาลิอัสก็ยืนกรานหนักแน่น  พวกเขาตอบขอบคุณสำหรับคำเชิญโดยไม่ตบปากรับคำว่า จะไปร่วมงานเลี้ยง แต่ครั้นเห็นสีหน้าท่าทางที่ผิดหวัง พวกเขาจึงตกลงไปร่วมงาน และใช้เวลาช่วงเย็นที่บ้านของคาลิอัส ทั้งดื่ม กิน  และพูดคุยในงานสังสรรค์ทางสังคมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของโลกยุคโบราณ นั่นคือ ซิมโพเซียม

คำบอกเล่าของซีโนโฟนบอกแก่เราว่า  ซิมโพเซียมหรือการดื่มกินสังสรรค์อาจเป็นงานชุมนุมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเจ้าภาพอาจเอ่ยปากเชิญชวนเพื่อนๆ ที่บังเอิญเจอบนท้องถนน หรือลานประชาคมอันเป็นที่ชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆ ของกรีกโบราณ  โดยแขกที่ได้รับเชิญสามารถนำเพื่อนอีกคนมาร่วมงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเชิญอย่างเป็นทางการ

ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของเพลโต ปรัชญาเมธีชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่ คืองานเขียนว่าด้วยธรรมชาติของความรักเรื่อง ซิมโพเซียม เช่นกัน ผลงานที่เขียนขึ้นเมื่อ 375 ปีก่อนคริสตกาลนี้เผยความสำคัญของซิมโพเซียมที่มีต่อวัฒนธรรมกรีก เช่นเดียวกับงานยุคก่อนหน้าของเซโนโฟน

ฉากของเพลโตคืองานเลี้ยงอาหารค่ำของกวีชาวเอเธนส์ผู้โด่งดัง  แขกคนหนึ่งที่ปรากฏตัวคือ อริสโตเดมัส ซึ่งน่าจะเป็นคนที่แขกอีกคนชวนมาร่วมงานด้วย อริสโตเดมัสคุยโอ่ว่า เพื่อนหรือแขกที่ชวนเขามาด้วยคือ โสเครติส ผู้เป็นที่นับหน้าถือตา

แม้ว่าการเชื้อเชิญอาจดูง่ายๆ สบายๆ  อย่างไรก็ตาม งานเลี้ยงเหล่านี้ก็มีธรรมเนียมที่เหล่าชนชั้นสูงชาวเอเธนส์ยึดถือปฏิบัติ แขกที่ได้รับเชิญต้องอาบน้ำชำระร่างกายและแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดีก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยง อริสโตเติลกล่าวว่า  “เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะเข้าร่วมงานสังสรรค์โดยที่เนื้อตัวของท่านเต็มไปด้วยเหงื่อและฝุ่น” แม้แต่โสเครติสซึ่งมักจะอยู่ในชุดธรรมดา และ ไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า ยังต้องแต่งเนื้อแต่งตัวและสวมรองเท้าเพื่อเข้างานเลี้ยง

 

การเริ่มต้นเฉลิมฉลอง

ชาวกรีกโบราณ

คำว่า ซิมโพเซียม มาจากภาษากรีก หมายถึง การดื่มกินด้วยกัน ซึ่งอาจหมายถึงงานเฉลิมฉลองโอกาสใดก็ได้ เช่น การฉลองชัยชนะของนักกีฬา ฉลองความสำเร็จของละครโศกนาฏกรรม งานเฉลิมฉลองของครอบครัว หรือแม้แต่การต้อนรับเพื่อนจากแดนไกล

ณ บ้านของเจ้าภาพ ทาสจะนำเแขกเหรื่อไปยังหอประชุมที่เรียกว่า Andron หรือ ห้องบุรุษ  ที่นั่นข้าทาสจะเตรียมน้ำไว้ให้ล้างมือ ถอดรองเท้า และพาไปยังเก้าอี้ซึ่งสามารถเอนตัวลงได้ เหล่าแขกจะมองสำรวจรอบห้อง ชื่นชมการตกแต่งเพดานและพรมแขวนผนัง อาหารมื้อใหญ่ได้รับการตระเตรียมอย่างดี  อาหารหลักจะเป็นชีส หัวหอม มะกอก มะเดื่อ และกระเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้  อาจจะมาพร้อมกับถั่วบด หรือถั่วเลนทิล เนื้อจะถูกเสิร์ฟในขนาดพอดีคำ ซึ่งแขกสามารถใช้นิ้วหยิบรับประทานได้ ไม่มีช้อนส้อมหรือผ้าเช็ดมือ นิ้วมือที่เปื้อนจะถูกเช็ดด้วยแผ่นขนมปังสไลด์ซึ่งจะโยนให้สุนัขของเจ้าบ้าน ส่วนของหวานจะเป็นผลไม้ต่างๆ เช่น องุ่น มะเดื่อ อาหารทุกอย่างจะถูกกลั้วลงคอด้วยไวน์ที่เจือจางด้วยน้ำเปล่า

งานเลี้ยงเป็นเพียงตัวเบิกโรงนำไปสู่จุดประสงค์ที่แท้จริง  เมื่อความอยากอาหารได้รับการตอบสนอง ทาสจะยกโต๊ะออกไปทำความสะอาดห้อง และเติมเหยือกไวน์หรือคราเตอร์   ตอนนั้นเองจะเป็นเวลาที่ซิมโพเซียมเริ่มขึ้น  การโต้เถียงอภิปรายอย่างออกรสเป็นเรื่องที่คาดหวังได้  แต่เรื่องที่ว่าจิตวิญญาณอันสูงส่งก้าวข้ามไปสู่ความหยาบเถื่อนนั้นยังเป็นเรื่องที่ถกเถียง ยูบูลัสกวีสมัยศตวรรษที่ 4 ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมของผู้ร่วมงานสามารถควบคุมให้เหมาะสมได้  ถ้าพวกเขาเสิร์ฟไวน์เพียงสามครั้ง

 

พิธีกรรมและการลงโทษ

ซิมโพเซียมเป็นมากกว่างานเลี้ยงอาหารค่ำ  กรีกมีธรรมเนียมอันโดดเด่นที่สะท้อนให้เห็นความเป็นพิธีรีตรองมากกว่าจะเป็นแค่การมารวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ ตัวอย่างเช่น หลังรับประทานอาหาร แขกจะประพรมตัวเองด้วยน้ำหอมหรือประดับร่างกายด้วยมาลัยดอกไม้ สิ่งเหล่านี้หาใช่เป็นเพียงเครื่องประดับตามสมัยนิยม แต่เชื่อว่าจะช่วยไม่ให้ปวดหัวจากการดื่มไวน์มากเกินไป

เมื่อความบันเทิงเริงรมย์ทางความคิดดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง  การบวงสรวงด้วยไวน์ซึ่งไม่ผ่านการเจือจางก็เริ่มขึ้น ผู้ร่วมงานจิบไวน์เพียงเล็กน้อย และประพรมส่วนที่เหลือเพื่อเป็นเกียรติแด่เทพซุส หรือเทพเจ้าองค์อื่นๆ  ระหว่างพิธีกรรมนี้อาจมีการขับร้องบทเพลงสรรเสริญ หรือบทกลอน เพื่ออุทิศถวายแด่เทพอะพอลโล นัยว่าเป็นการเตือนให้ผู้มาร่วมงานระลึกถึงต้นกำเนิดของการสังสรรค์ว่ามาจากความเชื่อทางศาสนา (ก่อนหน้ามื้ออาหารจะมีการฆ่าสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อเป็นการเซ่นสังเวย)

ผู้นำของงานเลี้ยงเรียกว่า ซิมโฟเซียคา มักเลือกจากแขกในงาน  หน้าที่ของเขาคือการกำกับความเข้นข้นของไวน์ในคราเตอร์ หรือคอยดูว่าแขกแต่ละคนควรจะได้ไวน์คนละกี่แก้ว  บางครั้งจำเป็นต้องมีการปรับเพื่อเป็นบทลงโทษของการไม่เชื่อฟังซิมโฟเซียคา เช่น การแก้ผ้าเต้นรำ หรือการวิ่งไปรอบๆห้องโดยแบกคนเป่าฟลุตไว้บนหลัง

ชาวกรีกมักไม่ดื่มไวน์บริสุทธิ์ แต่จะผสมไวน์กับน้ำในคราเตอร์ ก่อนจะรินใส่แก้วส่วนรวม  โดยทั่วไปจะมีไวน์สองส่วนกับน้ำห้าส่วน หรือไวน์หนึ่งส่วนกับน้ำสามส่วน  ซึ่งเป็นการเจือจางที่พอเหมาะและมั่นใจได้ว่า แขกในงานจะไม่เมาก่อนจบงาน บางครั้งไวน์ก็ใส่ในภาชนะพิเศษ เช่น psykter (ภาชนะที่สามารถเก็บความเย็น) ซึ่งเติมน้ำเย็นหรือแม้แต่หิมะลงไป  จะมีการเวียนแก้วไปยังแขกจากซ้ายไปขวา  และทาสจะคอยเติมคราเตอร์ในแต่ละครั้ง  ระหว่างอยู่ในซิมโพเซียม แขกจะกินขนมขบเคี้ยวที่เรียกว่า tragemata ประกอบด้วยผลไม้แห้ง ถั่วคั่วหรือถั่วชิกพี ซึ่งช่วยดูดซึมแอลกอฮอล์และสร้างความกระหายให้มากขึ้น

 

สุรา นารี และเสียงเพลง

การบรรยายถึงซิมโพเซียมของเพลโตกลั่นกรองจากหลายค่ำคืน  ที่เขาร่วมสังสรรค์กับเหล่ามิตรสหายซึ่งจัดว่าเป็นผู้ทรงภูมิและเฉลียวฉลาดที่สุดกลุ่มหนึ่งแห่งยุคกรีกโบราณ  อย่างไรก็ตาม งานเลี้ยงสังสรรค์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเข้มข้นทางปรัชญามากนัก แขกเหรื่อมักพูดคุยเรื่องราวทั่วไป เล่นปริศนาคำทายหรือวาดภาพล้อเลียนกัน

เมื่อช่วงเวลาของพิธีการที่ต้องแต่งกายเหมาะสม และบทสนทนาอันคร่ำเคร่งผ่านพ้นไป บันทึกหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมที่เหมาะสมมักเสื่อมทรามลงเมื่อค่ำคืนผ่านไป กฎของการเสิร์ฟไวน์สามครั้งมักถูกละเลยเป็นปกติ

โดยปกติกิจกรรมหลังมื้อค่ำมักเป็นการขับร้อง “skolion”  โดยมีพิณช่วยขับทำนอง  เนื้อเพลงสั้นๆอาจพูดถึงมิตรภาพความรื่นรมย์จากในไวน์ หรือพรรณนาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ไปจนถึงค่านิยมทางสังคมของชนชั้นสูง

Kottabos คือเกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  หลังจากดื่มไวน์จนหมด แขกจะถือแก้วตรงด้ามจับแล้วสาดไวน์ที่เหลือไปยังเป้าหมายซึ่งมักเป็นแก้วไวน์อีกใบ   ขณะที่สาดนั้น  เขาจะเอ่ยชื่อคนรัก  เพราะเชื่อกันว่าหากไวน์ที่สาดไปโดนเป้าจะส่งผลดีต่อชีวิตรัก  บางครั้งการเล่นยังมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก  เช่น  การจมภาชนะดินเผาที่ลอยอยู่ในถ้วยใบใหญ่หรือยิงจานรองที่วางไว้บนแท่งเหล็ก  ซีโนโฟนบันทึกไว้เมื่อ 404 ปีก่อนคริสตกาลว่า เทราเมเนส ชนชั้นสูงผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต  พิสูจน์ตัวเองด้วยการล้อเลียนกิจกรรม kottabos  โดยใช้แก้วใส่ยาพิษที่เขาถูกบังคับให้ดื่ม ตามบันทึกของเซโนโฟนเขาร้องออกมาว่า “แด่สุขภาพของซีทีอัสที่รัก” (ซึ่งเป็นชื่อของชายผู้สั่งประหารชีวิตเขานั่นเอง)

หญิงนักดนตรีเป่าขลุ่ยหรือที่เรียกว่า auletrides จะถูกนำเข้ามาในช่วงท้ายของงานสังสรรค์  รูปภาพซิมโพเซียมที่วาดบนแจกันหรือคนโทแสดงให้เห็นสตรีในสภาพกึ่งเปลือยทำการแสดงต่อหน้าแขกที่นอนเอกเขนกราวกับถูกสะกดด้วยราคะชั่วขณะ เมื่อพิจารณาสถานะที่ต่ำต้อยของนักดนตรีหญิงเหล่านี้แล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเธออาจร่วมกิจกรรมเสพสังวาสด้วย

 

พฤติกรรมแย่ๆ

ในงานเขียนเรื่อง ซิมโพเซียม ของเซโนโฟน เจ้าภาพผู้ร่ำรวยอย่างซิลิอัส จ้างกลุ่มผู้ให้ความบันเทิงมากมายเช่น  นักดนตรีเป่าขลุ่ย นักเต้นซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกายกรรม และหนุ่มหล่อผู้เล่นพิณและร่ายรำ ในตอบจบของราตรีนั้น เหล่านักเต้นจะแสดงการเต้นที่ยั่วยวน ละครใบ้ตอนงานแต่งของ Ariadne และ Dionysus เทพเจ้าแห่งไวน์

ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มักอยู่ในซิมโพเซียมคือ hetaera หรือหญิงงามเมือง ผู้คอยบริการชายหนุ่ม พวกเธอมอมเมาชายหนุ่มด้วยความงามและความบันเทิงจากบทสนทนาที่ฉลาดและถ้อยคำอ่อนหวาน งานเลี้ยงเหล่านี้จะเป็นโอกาสที่พวกเธอจะได้โปรยเสน่ห์และพบกับเหล่าชายผู้ใจกว้าง เอเธนนาอุส เล่าว่า เมื่อชายหนุ่มบางคนต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงหญิงงามเมืองชื่อ กาเธนา เธอปลอบใจผู้แพ้ว่า “ร่าเริงหน่อยพ่อหนุ่ม นี่ไม่ใช่การสู้เพื่อแย่งมงกุฎสักหน่อย ก็แค่ยอมรับมัน”

เมื่องานเลี้ยงปิดฉากลง แขกเหรื่อจะสวมมาลัยดอกไม้เดินออกไปยังถนนและร้องรำทำเพลงไปด้วย เรียกว่า komos  นักเขียนบทละครชื่ออริสโตปาเนส  พรรณนาถึงตัวละครตัวหนึ่ง ผู้ท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามทุกอย่างของแขกผู้มาร่วมงานเลี้ยง เพราะ komos ของเขาคือการคุกคามคนที่เดินผ่านไปมา  แม้ทางการจะพยายามห้ามปรามพฤติกรรมเกินขอบเขตเช่นนี้งานเลี้ยงฉลองหรือซิมโพเซียมก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ทางสังคมของชนชั้นสูงชาวกรีกต่อไปจนกระทั่งเข้าสู่ยุคโรมัน ธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ยังพบเห็นได้ตามมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอังกฤษ

เรื่อง ฟรานซิสโก จาเวอร์ เมอร์เซีย

 

อ่านเพิ่มเติม

สืบเสาะค้นหาพระเยซูในประวัติศาสตร์

Recommend