ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว กำลังเกิด ต้องรับมือ และอยู่ให้ได้

ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว กำลังเกิด ต้องรับมือ และอยู่ให้ได้

เรื่อง นิรมล มูนจินดา
ภาพถ่าย จิตรภณ ไข่คำ

หลังพ้นตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน รับเป็นประธานคณะทำงานโกลบอลฮิวแมนิแทเรียนฟอรัม (Global Humanitarian Forum) องค์กรอิสระให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะผู้ประสบภัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เมื่อปี 2552 องค์กรดังกล่าวตีพิมพ์รายงานเรื่อง Climate Change – The Anatomy of A Silent Crisis ชี้ถึงผลกระทบใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คนราว 300,000 คนเสียชีวิต  ร้อยละ 90 ในจำนวนนั้นจากภาวะทุพโภชนาการ อหิวาตกโรค มาลาเรีย ที่เหลือจากเหตุการณ์ภาวะอากาศรุนแรง

โคฟี อันนัน ตั้งคำถามว่า “ชาวประมงจะไปอยู่ไหน เมื่ออุณหภูมิของท้องทะเลอุ่นขึ้นจนปะการังและปลาหมดไป  ชาวนารายย่อยจะทำอย่างไรกับปศุสัตว์และพืชผลเมื่อน้ำแห้งเหือด  ครอบครัวทั้งหลายจะเหลืออะไร  เมื่อผืนดินอันอุดมและแหล่งน้ำจืดปนเปื้อนเกลือจากน้ำทะเลหนุน”   คำถามเหล่านี้อาจไม่มีใครอยากตอบจริงจัง เพราะร้อยละ 99 ของผู้เสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ทั้งยากจนและห่างไกลในแอฟริกาบ้าง อินเดียบ้าง ไม่เกี่ยวอะไรกับคนเมืองอื่น  จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “กายวิภาคของวิกฤตอันเงียบงัน”

นับตั้งแต่ปี 2558 จิตรภณ ไข่คำ ออกเดินทางบันทึกภาพภัยแล้งที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภูผาม่าน และที่อื่นๆในภาคอีสาน  ในช่วงเวลานั้น กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนประชาชนว่า อุณหภูมิอาจสูงถึง 44 องศาเซลเซียสทำสถิตสูงสุดในรอบ 55 ปี

ขณะเดียวกัน สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯหรือโนอา (NOAA) ก็บันทึกความผิดปกติของสภาพอากาศทั่วโลก ทั้งร้อนสุด ร้อนเกือบสุดที่แคนาดา อะแลสกา ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ อาร์เจนตินา แอฟริกา เอเชีย  แห้งแล้งที่สุดที่ชิลี รวมทั้งคลื่นความร้อนที่อินเดีย  แต่ที่โมร็อกโก เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ฝนตกหนักผิดปกติ

เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมเฉียบพลัน เพราะฝนนอกฤดูซึ่งมีปริมาณมากผิดปกติ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่สุดท้ายที่น้ำในแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกันก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีระดับน้ำหนุนสูงเป็นสาเหตุให้น้ำระบายออกได้ช้าและท่วมขังนาน

แต่การประกาศว่าปี 2558 เป็นปีที่ร้อนที่สุดทั่วโลกนั้นไม่ยืดยาว เพราะทั้งโนอาและนาซาเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ปี 2559 เป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยจดบันทึกกันมาตั้งแต่ 137 ปีก่อน  โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางศตวรรษที่ 20 ที่ 0.99 องศาเซลเซียส จนทำให้ปี 2559 เป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกร้อนที่สุดทำลายสถิติต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกันแล้ว

ส่วนในเมืองไทยเอง วันที่ร้อนที่สุดในเดือนเมษายนปีที่แล้ววัดได้ 44.6 องศาเซลเซียสที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  และบางท้องถิ่นว่ากันว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบร้อยปี

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนก่อน เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า “ในช่วง 3 เดือนนี้ ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย  ตลอดช่วงเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด  อุณหภูมิสูงที่สุด 42-43 องศาเซลเซียส”  และถ้าหากเปิดแผนที่ดูด้วยจะพบว่าพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดอากาศร้อนจัดตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปนั้นครอบคลุมเกือบทั้งประเทศจะยกเว้นก็แต่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือเพียงสามจังหวัดเท่านั้น  พอถึงวันนี้ ยังไม่ทันกลางเดือนมีนาคม นาซาก็ปล่อยแผนที่ภาพคลื่นความร้อนที่กำลังแผ่ปกคลุมประเทศไทยในเดือนเมษายน พร้อมพยากรณ์ว่า  ปีนี้อุณหภูมิอาจสูงถึง 44.7 องศาเซลเซียส  ร้อนที่สุดในรอบ 57 ปี

ก็เหมือนปีก่อนและก่อนหน้านั้นแล้วที่คาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดไว้ราวๆ นี้  แต่เมื่อไหร่กันที่เราคุ้นเคยกับอากาศร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียส

ไม่ใช่ตอนที่เราเป็นเด็กแน่ๆ

พายุฤดูร้อนและฟ้าผ่าช่วงปลายฤดูร้อนที่แล้งจัด มักเกิดพร้อมพายุลูกเห็บรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย หลายครั้งสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างแก่ทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชน

ภาวะอากาศรุนแรงสุดขั้ว

ต้นปีที่ผ่านมา ภาคใต้ของประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่และนานกว่าที่เคยเป็นมา ถึงแม้ว่าน้ำท่วมครั้งล่าสุดจะมีเหตุปัจจัยหลายประการที่มาจากมนุษย์ เช่น การวางผังเมือง การใช้ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้มองเรื่องระบบนิเวศและภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น คลองที่ถูกรุกล้ำจนตื้นเขิน       และป่าต้นน้ำถูกทำลาย แต่ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ ก็ทำให้น้ำท่วมรุนแรงยาวนานกว่าที่เคย

ปริมาณน้ำฝนรายปีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ฤดูฝนจะยังคงมีระยะเวลาเท่าเดิม เป็นหนึ่งในการศึกษาเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตที่เว็บไซต์ thailandadaptation.net ระบุไว้ นอกเหนือจาก “อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปจะสูงขึ้นเล็กน้อยทั้งกลางวันและกลางคืน” “วันที่ร้อนที่สุดในรอบปีจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก” “อาจมีการขยับเลื่อนของฤดูกาล” “ช่วงเวลาอากาศร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่  สั้นลง” “ฤดูแล้งอาจแล้งจัด เนื่องจากระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีมีแนวโน้มร้อนมากขึ้นและนานขึ้น” “มีพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดมากขึ้น” “ความแปรปรวนระหว่างฤดูและระหว่างปีจะเพิ่มสูงขึ้น” โดยคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 30 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป

ในบรรดาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น การเกิดลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (climate extreme หรือ extreme weather) ที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไอพีซีซี (IPCC) ใช้เรียกด้วยความหมายเดียวกัน  จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นชนิดไม่ต้องถึงหนึ่งองศาเซลเซียสด้วยซ้ำ ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ชาวโลกประสบกับคลื่น ความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ และพายุหมุนเขตร้อน บ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ผิดปกติขึ้นไม่เป็นไปตามฤดูกาล และคาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที และที่แย่ไปกว่านั้นคือ  สภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดที่ไม่อาจหวนกลับคืนมาสู่สภาพเดิมที่เราเคยอยู่กันมาได้อีกเลย

ชาวบ้านที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งซุ้มไฟดักจับแมลง เป็นวิธีหนึ่งในการดิ้นรนเพื่อทำมาหากินในช่วงที่ประสบกับภัยแล้งจนไม่สามารถประกอบอาชีพหลักได้

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “โดยปกติเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วมีโอกาสเกิดน้อย   แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่ามีโอกาสเกิดสูงมาก  สำหรับประเทศไทย เราดูค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นทุก 30 ปี และเห็นภาพว่า มีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้น  ประเทศไทยในอนาคตจะมีฝนตกหนักขึ้น ส่วนหน้าแล้งก็รุนแรงมากขึ้นด้วย

“ถึงจะเจอแล้งบ่อย ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ท่วมเลย  อนาคตอีก 100 ปีข้างหน้า ก็จะมีโอกาสท่วมมากขึ้น  ลมฟ้าอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นแน่  สมมุติว่ามีฝนตกหนักที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี ในอนาคต ฝนตกหนักนี้จะเกิดบ่อยขึ้นจนเป็นรอบ 10 ปี  สำหรับกรุงเทพฯ อย่างน้ำท่วมใหญ่อาจเกิดบ่อยเป็นทุก 10 ปีด้วย…  ถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนไปอย่างถาวร นั่นคือ ‘New Normal’” สอดคล้องกับการศึกษาของโซฟี เลวิส จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียที่พบว่า หากเรายังปล่อยคาร์บอนในอัตราที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  ฤดูกาลที่สุดขั้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในชั่วเวลาเพียงทศวรรษเดียว และต่อให้เราพยายามลดคาร์บอนไม่ว่าจะด้วยวิธีใด อากาศร้อนจัดอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2560 ก็จะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ภายในปี พ.ศ. 2583 อยู่ดี


อ่านเพิ่มเติม สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ตัวการคร่าชีวิตในอนาคต?

Recommend