ทะเลจีนใต้ น่านน้ำแห่งข้อพิพาท

ทะเลจีนใต้ น่านน้ำแห่งข้อพิพาท

ทะเลจีนใต้ น่านน้ำแห่งข้อพิพาท

คริสโตเฟอร์ ทูโบ เคยจับปลากระโทงหนัก 300 กิโลกรัมได้ใน ทะเลจีนใต้ เขาบอกว่า นั่นคือเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ปลาในน่านน้ำนั้นยังอุดมสมบูรณ์ “ที่นี่ไม่เป็นอย่างนั้นเลยครับ” เขาพูดพลางมองไปยังทะเลซูลูที่เขาอาศัยจับปลาตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เรือสองลำของเขาซึ่งเป็นเรือพื้นเมืองของชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า บันกา (banca) ลอยลำอยู่ในน้ำตื้นแถวๆนั้น

ทูโบอาศัยอยู่ในเมืองปวยร์โตปรินเซซา ซึ่งมีประชากรราว 255,000 คนบนเกาะปาลาวัน เกาะนี้หันออกสู่ทะเลซูลู มีหมู่เกาะฟิลิปปินอยู่ทางทิศตะวันออก และทะเลจีนใต้ที่กำลังเป็นข้อพิพาทของหลายชาติในเอเชียอยู่ทางทิศตะวันตก เขาเป็นหนึ่งในชาวประมงกว่า 320,000 คนในฟิลิปปินส์ที่ใช้วิธีดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพอยู่ในทะเลจีนใต้ และเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งต้องไปจับปลาในน่านน้ำอื่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาน้อยกว่า

นั่นเป็นเพราะเมื่อประมาณแปดปีก่อน จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ โดยสำแดงแสนยานุภาพข่มขู่ชาวประมงชาติอื่น และในที่สุดก็สร้างฐานทัพบนเกาะหลายแห่งที่ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ ทูโบเลิกจับปลาในทะเลจีนใต้ หลังจากเรือป้องกันชายฝั่งของจีนใช้หัวฉีดน้ำแรงดันสูงโจมตีเรือของเพื่อนเขา

ทะเลจีนใต้
ชาวประมงฟิลิปปินส์เดินลุยน้ำเข้าฝั่งพร้อมปลาบางส่วนที่ลูกเรือของเขาจับได้

การตัดสินใจของทูโบสะท้อนให้เห็นความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทะเลจีนใต้ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ 3.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีความสำคัญอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปี การค้าระหว่างประเทศในน่านน้ำแห่งนี้มีเงินสะพัดราว 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบบนิเวศที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ     แทบทุกแห่งในโลก และปลาในน่านน้ำแห่งนี้ก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญและสร้างงานให้ผู้คนนับล้านใน 10 ประเทศและดินแดนโดยรอบ

ในบรรดาประเทศเหล่านั้น เจ็ดประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ หากความขัดแย้งทางทหารปะทุขึ้น อาจเกิดการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ คือ จีนกับสหรัฐฯซึ่งฝ่ายหลังเป็นพันธมิตรของฟิลิปปินส์มาช้านาน

ภัยคุกคามร้ายแรงอีกอย่างหนึ่ง แต่สาธารณชนทราบกันน้อยกว่า คือการทำประมงเกินขนาด ทะเลจีนใต้เป็นแหล่งประมงสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีการจ้างงานกว่า 3.7 ล้านคน และสร้างรายได้ปีละหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากการทำประมงอย่างไร้กฎเกณฑ์ตลอดหลายทศวรรษ ปริมาณปลาก็ร่อยหรอลง จนคุกคามความมั่นคงทางอาหารและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและต้องพึ่งพาการประมง

ทะเลจีนใต้
ชายชาวฟิลิปปินส์ซ่อมอวนอยู่ในชุมชนชาวประมงที่เมืองปวยร์โตปรินเซซา

จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด โดยกำหนดเขตแดนกินพื้นที่กว้างใหญ่ด้วยการอ้างว่าเคยเป็นของจีนในประวัติศาสตร์ แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ พื้นที่ที่จีนอ้างนั้นทับซ้อนน่านน้ำของประเทศอื่นด้วย ประเทศอื่นในทะเลจีนใต้ทุกประเทศคัดค้าน รวมถึงฟิลิปปินส์ซึ่งอ้างสิทธิตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea)

เมื่อปี 2013 ฟิลิปปินส์นำคดีพิพาทกับจีนขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จีนปฏิเสธเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี ในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 2016 ศาลตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะเกือบทุกกรณีที่ยื่นฟ้อง โดยระบุว่า จีนได้สละสิทธิในการกล่าวอ้างใดๆตามประวัติศาสตร์ เมื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในปี 1996 จีนยืนกรานที่จะเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้นี้ทำให้การแข่งขันในหมู่ชาวประมงรุนแรงขึ้น และการแก่งแย่งปลาที่เป็นผลตามมายิ่งโหมกระพือความขัดแย้งให้ดุเดือดขึ้น ปัจจุบัน บางน่านน้ำมีปริมาณปลาให้จับน้อยกว่าหนึ่งในสิบจากที่เคยมีอยู่เมื่อหกทศวรรษก่อน

ทะเลจีนใต้
ปลากระโทงและปลามูลค่าสูงอื่นๆ เช่น ทูน่า หายากมากขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลจีนใต้ การล่มสลายของอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจะคุกคามวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของผู้คนนับล้าน

เมื่อน่านน้ำชายฝั่งว่างเปล่า ชาวประมงจำนวนมากต้องเสี่ยงชีวิตออกไปไกลกว่าพรมแดนของประเทศ เข้าไปหาเลี้ยงชีพในพื้นที่พิพาท ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มสนับสนุนการอ้างสิทธิโดยส่งเสริมชาวประมงของตนอย่างก้าวร้าว จีนสนธิกำลังจากกองกำลังป้องกันชายฝั่ง ติดอาวุธให้กองเรือประมง และอุดหนุนทั้งเชื้อเพลิงและเรือที่ดีกว่า และถึงกับให้การอุดหนุนเป็นกรณีพิเศษแก่ชาวประมงจีนให้จับปลาในน่านน้ำรอบหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทอยู่ห่างจากส่วนใต้สุดทางทิศใต้ของจีน (ท่าเรือบนเกาะไหหลำ) ประมาณ 900 กิโลเมตร

“เหตุผลเดียวที่เรือประมงขนาดเล็ก [ของจีน] ไปยังหมู่เกาะสแปรตลี ก็คือพวกเขาได้รับการว่าจ้างให้ไปครับ” เกรกอรี โพลิง จากศูนย์การศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยหรือองค์กรคลังสมองที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว และเสริมว่า ท่าทีแข็งกร้าวของจีนยิ่งเร่งให้ปริมาณปลาหมดไปเร็วขึ้น

นอกจากนี้ จีนกำลังสร้างหมู่เกาะเทียมทับแนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อสนับสนุนฐานทัพที่นั่น “การครอบครองคือเก้าในสิบของกฎหมายครับ” แซคารี อะบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. บอก “จีนกำลังพยายามบังคับใช้อำนาจอธิปไตยด้วยการสร้างเกาะเหล่านี้ขึ้น และโดยการห้ามประเทศอื่นเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ”

ทะเลจีนใต้
แสงไฟบนเรือเมลิสซาของฟิลิปปินส์ ดึงดูดปลาให้ขึ้นมาบนผิวน้ำและเข้ามาใกล้เรือ ชาวประมงฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม และไต้หวัน ล้วนตักตวงประโยชน์จากน่านน้ำเหล่านี้ซึ่งแทบไม่มีการควบคุมใดๆ

เมื่อประเทศหนึ่งพยายามปกป้องแหล่งประมงของตน ความตึงเครียดก็ปะทุขึ้น เมื่อปี 2012 เรือรบของกองทัพเรือฟิลิปปินส์พยายามจับกุมเรือประมงชาวจีนที่เกาะปะการังสการ์เบอโร ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ประมาณ 222 กิโลเมตร ด้วยข้อหาการทำประมงผิดกฎหมาย การลักลอบเก็บปะการังหายาก หอยมือเสือยักษ์ และล่าฉลาม เรือป้องกันชายฝั่งของจีนเข้าแทรกแซงเพื่อขัดขวางการจับกุม ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน สิบสัปดาห์ต่อมา ทั้งสองฝ่ายตกลงจะประนีประนอม แต่หลังจากเรือรบของฟิลิปปินส์ถอยฉากไป เรือรบของจีนยังคงอยู่ต่อ เท่ากับเป็นการยึดครองเกาะปะการังแห่งนี้อย่างกลายๆ

การทำประมงเกินขนาดส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง และขนาดของปลาก็เล็กลงด้วย ก่อให้เกิดวงจรอันตรายขึ้น ชาวประมงฟิลิปปินส์บางคนหันมาใช้วิธีทำประมงที่อันตรายและผิดกฎหมาย รวมถึงการระเบิดปลาด้วยระเบิดทำเอง และการเบื่อปลาด้วยไซยาไนด์ ทั้งสองวิธีฆ่าปะการังและปลาอื่นๆด้วย เป็นความเสียหายข้างเคียงที่ผลักดันให้ท้องทะเลแห่งนี้ใกล้จะเกิดวิกฤติการณ์การทำประมงเกินขนาดเข้าไปทุกที

เรื่อง เรเชล เบล
ภาพถ่าย แอดัม ดีน

Recommend