ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทำให้วิกฤติผู้ลี้ภัยในยุโรปย่ำแย่ลง

ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทำให้วิกฤติผู้ลี้ภัยในยุโรปย่ำแย่ลง

ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทำให้วิกฤติผู้ลี้ภัยในยุโรปย่ำแย่ลง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ วิกฤติผู้ลี้ภัย กลายเป็นประเด็นสำคัญในสหภาพยุโรป เนื่องมาจากการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและในอีกหลายประเทศที่พากันอพยพเข้ามา เพื่อแสวงหาความปลอดภัยและชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ผลการศึกษาใหม่ระบุว่า หากในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น จะยิ่งขับเคลื่อนให้จำนวนของผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าสู่ทวีปยุโรปมากขึ้นทบทวี

เมื่อโลกร้อนขึ้น การหลั่งไหลของผู้คนที่มองหาสิ่งที่ดีกว่าจะยิ่งเพิ่มตาม ภายใต้สถานการณ์ที่อุณหภูมิของโลกเริ่มคงที่ในปี 2100 ประมาณการณ์ไว้ว่าจำนวนของผู้ลี้ภัยจะเพิ่มเป็น 28% แต่หากสถานการณ์ดำเนินไปอย่างไม่ปกติ จำนวนผู้ลี้ภัยอาจเพิ่มเป็น 3 เท่าจากที่เป็นอยู่ นั่นหมายถึงจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากกว่าล้านคนในแต่ละปี อันเนื่องมาจากประเทศบ้านเกิดของพวกเขาที่ไม่อาจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

“นี่คืองานวิจัยที่สำคัญอย่างน่าเหลือเชื่อ” Solomon Hsiang นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าว ตัวเขาเป็นผู้สร้างโมเดลผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ “งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าโลกของเรามีประชากรกลุ่มหนึ่งที่หลบหนีจากประเทศตนเอง และขอลี้ภัยในประเทศที่ดีกว่า”

ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ในวารสาร Science เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา และเป็นการศึกษาล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่าภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังทวีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกให้รุนแรงขึ้น

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสามารถสร้างความวุ่นวายในหลายประเทศได้ ยกตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งในปี 2015 พบว่า ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นตลอดปี 2007 – 2010 ในซีเรียและจอร์แดน ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาเกิดความไม่แน่นอนและผลักดันพวกเขาเข้าสู่สงครามกลางเมือง

ผลการศึกษาอื่นๆ ขยายออกไปกว้างกว่านั้น พวกเขาทำการวิจัยเพื่อสำรวจว่าภาวะโลกร้อนกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง “แม้ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะไม่ได้ปรากฏเห็นเด่นชัดในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกประเทศบนโลกนี้มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่” Anouch Missirian นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้ศึกษาสาขากิจการระหว่างประเทศกล่าว

 

ปัญหาที่เกิดกับการเกษตร

เพื่อมองหาความเชื่อมโยง Missirian ร่วมมือกับ Wolfram Schlenker นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พวกเขาศึกษาข้อมูลจากประเทศจำนวน 103 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอลี้ภัยมายังสหภาพยุโรปในช่วงปี 2000 – 2014 และนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลของสภาพอากาศในแต่ละประเทศ

ทั้งคู่พบความสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมโยงจำนวนของผู้ลี้ภัยกับค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ โดยรวมแล้วจำนวนการขอลี้ภัยจะมีจำนวนต่ำที่สุดเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวพืชผล แต่เมื่อประเทศนั้นๆ มีอุณหภูมิเปลี่ยนไปร้อนขึ้น หรือเย็นลง จำนวนการขอลี้ภัยจะเพิ่มตาม

Jan Selby นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกับสงครามซีเรีย ว่าเป็นแค่เหตุบังเอิญ

“ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่รายงานฉบับนี้จะพบสถิติความสัมพันธ์บางอย่าง เพราะตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จำนวนการเกิดสงครามกลางเมืองและการหลั่งไหลของผู้อพยพเพิ่มขึ้นอยู่แล้วอย่างอิสระ” Selby ตอบผ่านอีเมล์ “คำถามสำคัญก็คือรายงานนี้ได้บอกถึงสาเหตุของปัญหาหรือไม่ ผมกล้าตอบว่าไม่”

อย่างไรก็ตาม Missirian และ Schlenker ไม่เห็นด้วย เนื่องจากระบุว่าพวกเขาศึกษาแบบสุ่มว่าภูมิอากาศมีผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศนั้นๆ และพวกเขาพบว่าจำนวนการขอลี้ภัยแตกต่างกันไปตามการเปลี่ยนแปลงของอากาศในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้นๆ จะมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม นอกจากนั้นการวิเคราะห์ของพวกเขายังครอบคลุมถึงแรงกระเพื่อมที่สั่นสะเทือนทั่วโลกอย่างวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ด้วย

“ผมค่อนข้างยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เราศึกษาในปี 2000 – 2014 คือสาเหตุ” Schlenker กล่าว

 

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์

ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและจำนวนผู้ลี้ภัยจะดำเนินไปจนสิ้นศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม Schlenker และ Missirian ยอมรับว่าเรื่องราวทั้งหมดอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“คุณต้องระมัดระวังอย่างมากเวลาคาดการณ์หาผลลัพธ์ เนื่องจากการโมเดลของการใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นสาเหตุนั้นดูเหมาะสมกว่าการรัฐประหารหรือการจัดสรรจำนวนประชากรในประเทศ” Missirian กล่าว

“มันเป็นไปได้ในทุกทาง” เธอกล่าวเสริม “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะรู้สึกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของเราเองด้วย”

Caitlin Werrell ประธานกลุ่ม The Center for Climate and Security องค์กรพลเมืองที่มุ่งเน้นนำเสนอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เห็นด้วยว่าการกำกับดูแลนั้นมีส่วนสำคัญ

“นโยบายระดับชาติ, การพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความร่วมมือของนานาประเทศ, การออกแบบเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ประชากรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้มากขึ้น เหล่านี้คือกุญแจที่จะช่วยลดจำนวนของการโยกย้ายถิ่นฐาน” เธอกล่าวผ่านอีเมล์

นอกเหนือจากนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เห็นว่า การศึกษา คือแรงกระตุ้นสำคัญ

“มันยังเป็นไปได้ที่จะชะลอการหลั่งไหลของผู้คน ด้วยการลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” Hsiang กล่าว “เปรียบเทียบกับนโยบายการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยที่ไม่มีวันจบสิ้น ทั้งยังต้องรับมือกับความวุ่นวายทางการเมืองที่จะตามมา ดูเหมือนว่าการช่วยกันลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกวันนี้คือการต่อรองที่ดีที่สุด”

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม : เปิดใจช่างภาพผู้บันทึก “หมีขั้วโลกผอมโซ”จะช่วยมหาสมุทรต้องเลิกใช้กากเพชร?

Recommend