มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยิน

มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยิน

ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกได้กำหนดระดับเสียงที่เป็นพิษหรือดังเกินไปไว้ที่ 85 เดซิเบล ส่วนระดับเสียงที่บุคคลทั่วไปสามารถทนรับฟังได้คือ 120 เดซิเบล สำหรับประเทศไทยเองกำหนดค่ามาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 75 เดซิเบล ตามประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ ในส่วนของการทำงานนั้น หากเป็นการทำงานติดต่อกันนาน 12 ชั่วโมง ระดับเสียงที่ปลอดภัยควรอยู่ที่ไม่เกิน 87 เดซิเบล และหาก 8 ชั่วโมงควรอยู่ที่ไม่เกิน 90 เดซิเบล จึงจะถือว่าเป็นระดับปลอดภัย

The Perspective ใช้แอพพลิเคชั่น Decibel 10th ในการวัดเสียง ในช่วงเวลา 10.00 – 14.00 ของวันธรรมดา หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนเนื่องจากไม่ต้องการให้เสียงของผู้โดยสารดังมากเกินไป เพื่อจะได้เสียงของเครื่องยนต์และบรรยากาศโดยรอบ – กราฟฟิกโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล

ผลการทดลองจะเห็นว่า เรือโดยสารคลองแสนแสบนั้นมีค่าเฉลี่ยของเสียงรบกวนมากที่สุดถึง 98.2 เดซิเบล ในวันนั้นจุดพีคสุดของเสียงขึ้นแตะถึง 106.7 เดซิเบล จากเสียงเครื่องยนต์เมื่อเรือถูกเร่งความเร็วขึ้น อันดับสองคือ เรือด่วนเจ้าพระยา ตามมาด้วยรถเมล์, รถสองแถว, รถเมล์ปรับอากาศ, รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอมอาร์ที

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่ใส่ใจของผู้คนในเมืองต่อปัญหาเสียงรบกวนเหล่านี้ ยังมีองค์กรเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เล็งเห็นถึงปัญหา โดยพยายามสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของมลพิษทางเสียงให้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา

วิลาวัณย์ วงสินธุ์ ผู้โดยสารเรือคลองแสนแสบเป็นประจำเล่าให้ฟังว่า เธอเจอกับคุณลุงกระเป๋าเรือคนหนึ่งที่หูไม่ค่อยดี แม้เรือจอดอยู่นิ่งๆ แต่เธอยังต้องพูดเสียงดัง เพื่อให้ลุงได้ยินว่าเธอจะไปลงป้ายอะไร

ตอนบ่ายวันหนึ่ง ผมเดินทางมาถึง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นออฟฟิศเล็กๆ ตั้งอยู่บนชั้น 17 อาคารวิทยกิตติ์ ส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความประทับใจแรกของผมเกิดขึ้นทันทีเมื่อเห็นโมเดลผังเมืองของกรุงเทพมหานครขนาดใหญ่ติดอยู่บนผนัง ผมพยายามมองหาว่าเรากำลังอยู่ตรงส่วนไหนของแผนที่ แต่ด้วยความที่อาคารแต่ละหลังไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ สุดท้ายจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยชี้จุด

“จริงๆ แล้วกฎหรือระเบียบของเรื่องเสียงไม่ได้ถูกกำหนดในผังเมือง แต่อยู่ในพรบ. ควบคุมสิ่งแวดล้อมมากกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่า เสียง ไม่ได้เป็นปัจจัยในการออกแบบผังเมือง” อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์กล่าว “แต่เคยมีงานวิจัยทางฟิสิกส์ชี้ว่าเมืองที่ประกอบด้วยอาคารสูงมากๆ ซึ่งมีโครงสร้างแข็งจะส่งผลให้เกิดการสะท้อนของเสียงมากขึ้น นั่นหมายความว่าลักษณะทางกายภาพของเมืองเองมีผลต่อการได้ยินของผู้คน”

สถิต แก้ววิเศษ กระเป๋ารถเมล์อาชีพนานมากกว่า 30 ปี กล่าวว่า ตัวเธอไม่รู้สึกหนวกหูกับเสียงจราจรที่เกิดขึ้นในทุกๆ วันของการทำงาน เพราะชินชากับมัน เฉลี่ยในแต่ละวันเธอใช้ชีวิตบนท้องถนนไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง

ศูนย์แห่งนี้กำลังเตรียมตัวเปิดโครงการ “แผนที่เสียง” แคมเปญใหม่ที่จะสร้างแผนที่มลพิษทางเสียงของกรุงเทพฯ ขึ้นมาโดยให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นอัดเสียงตามพื้นที่ต่างๆ แล้วส่งเข้ามาในระบบของโครงการฯ  ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ฯ ได้ทดลองวัดค่ามลพิษทางเสียงไปแล้วในพื้นที่เขตปทุมวัน-บางรัก พบว่าบริเวณใต้ทางยกระดับบริเวณสามย่านเป็นจุดที่มีมลพิษทางเสียงสูงที่สุด เนื่องจากการจราจรและการก่อสร้างใกล้เคียง

ตัวอย่างแผนที่เสียงจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ทำการวัดมลพิษทางเสียงในพื้นที่เขตปทุมวัน-บางรัก

“เราพบว่าจริงๆ พื้นที่อยู่อาศัยในเมืองค่อนข้างเงียบ ปัญหาเรื่องเสียงมักมาจากพื้นที่ที่ระบบขนส่งสาธารณะหนาแน่นมากกว่า เช่น จตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นั่นหมายความว่ามลพิษทางเสียงในเมืองเกิดจากปัญหาการจราจรเป็นส่วนใหญ่” อดิศักดิ์กล่าว “เราคาดหวังว่าเรื่องเสียงจะกลายเป็นกระแสขึ้นมา และภาครัฐจะให้ความสนใจ เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้แก้ไขฝุ่นละออง หรือน้ำเน่า เป็นต้น”

ทั้งนี้ปัญหามลพิษทางเสียงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเสียงที่สามารถหาแหล่งกำเนิดได้ชัดเจน เช่น คอนเสิร์ตหรืองานอีเวนต์ ประเภทนี้ควบคุมได้ง่าย เพียงแค่จัดการกับแหล่งกำเนิดเสียงอย่างลำโพง แต่อีกประเภทซึ่งเป็นมลพิษทางเสียงจากการจราจรนั้น การหาต้นตอที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่ชัดเจนเป็นเรื่องยาก อาจต้องพึ่งพามาตรการจากภาครัฐในการควบคุม เช่น จัดการกับเครื่องยนต์ที่เก่ามากจนส่งเสียงดัง เป็นต้น

มลพิษทางเสียงยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผู้มีรายได้น้อยนอกจากจะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศแล้ว มลพิษทางเสียงก็เป็นสิ่งที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

“ประชาชนไม่ควรรู้สึกว่าเสียงเป็นปัญหาที่ยอมรับได้ เราไม่ควรชินชากันมัน” สุพัตรา เพชรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองกล่าว

หากพบเจอปัญหาเกี่ยวกับเสียงรบกวน คุณผู้อ่านสามารถร้องเรียนกับกรุงเทพมหานครได้ หรืออย่างน้อยการโพสต์ปัญหาลงในโซเชียลก็เป็นหนทางหนึ่งในการแบ่งปันปัญหา ซึ่งในอนาคตศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองมีแผนจะลงพื้นที่วัดระดับเสียงจากปัญหาที่มีผู้โพสต์บนโลกออนไลน์เช่นกัน “สำคัญคือตัวเราอย่าใช้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ กับเสียงรบกวนครับ” อดิศักดิ์กล่าว คาดว่าโครงการ “แผนที่เสียง” จะเปิดให้ประชาชนช่วยกันอัดเสียงรบกวนและส่งเข้ามาเพื่อสร้างแผนที่เสียงของกรุงเทพมหานครภายในปลายปีนี้

 

เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

ภาพ พันวิทย์ ภู่กฤษณา และ ธีรธัญภัค เหลืองอุบล

เสียง พิสิษฐ์ สีเมฆ

ขอขอบคุณ นฤภัย อักษรมี ที่ปรึกษาด้านเสียง

 

อ่านเพิ่มเติม : วาด ต้นไม้ จากความทรงจำในสายตาคนต่างแดน

Recommend