ชีวิตจะเปลี่ยนไหม หากได้ลองอด

ชีวิตจะเปลี่ยนไหม หากได้ลองอด

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในวันแรกของเดือนรอมฎอน เดือนที่ชาวมุสลิมจะพร้อมใจกันถือศีลอดประจำปี ตามปฏิทินของศาสนาอิสลาม เป็นวันเดียวกันกับที่ผมเพิ่งเดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่ผมมาเยือนประเทศนี้ในรอบปีนี้ และมาเลเซียยังคงมีอะไรใหม่ๆ ให้นักเดินทางอย่างผมประทับใจอยู่เสมอ

ในช่วงเย็นผมกับเพื่อนออกไปเดินตลาดนัด ลัดเลาะไปตามถนนคนเดินเรื่อยๆ จนมาถึงย่านที่มีร้านอาหารคับคั่ง ภาพของชาวมาเลเซียนั่งรอรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะเป็นความแปลกใหม่ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ทุกร้านอาหารมีผู้คนแน่นขนัด ทุกคนมีอาหารอยู่ตรงหน้า แต่ยังไม่มีใครเริ่มต้นลงมือกิน พวกเขากำลังรอฟังเสียงประกาศที่จะบอกถึงเวลาละศีลอดจากมัสยิด

ถ้าเป็นคุณเองจะคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น เมื่อคุณทนหิวมาทั้งวัน อาหารตั้งอยู่ตรงหน้าแค่เอื้อม แต่ไม่สามารถรับประทานได้?

ภาพถ่ายจากอินสตาแกรม @little.michima : ที่กัวลาลัมเปอร์ วันแรกของเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมซื้ออาหารเตรียมไว้รอรับประทานหลังละศีลอดในช่วงค่ำ

เราเลือกศูนย์อาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งเป็นที่ฝากท้องในมื้อเย็นวันนั้น อาหารที่เราสั่งมาพร้อมกับเสียงประกาศจากมัสยิดพอดี แล้วเสียงพูดคุยจอแจก็เบาลง เมื่อทุกคนเริ่มตักอาหารเข้าปาก

“ก็ไม่มีใครกินมูมมามนะ” ผมบอกกับเพื่อนคนไทยชาวมุสลิมที่ไปทำงานที่นั่น เขาหัวเราะ ใช่ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ กว่า 14 ชั่วโมงที่ไม่มีอาหาร และน้ำตกถึงท้องเลย ภาพจินตนาการของผมพวกเขาควรจะหิวกระหายกว่านี้

เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนตีสี่กว่าๆ และไม่ใช่แค่ครั้งเดียว กว่าเพื่อนของผมจะขุดตัวเองขึ้นจากเตียงให้ลุกไปทำอาหารเช้าได้ ไข่คนปลากระป๋องกับข้าวสวยที่หุงจากไมโครเวฟ เมนูง่ายดายที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามประสาชีวิตคนเมือง เพื่อนชวนให้มากินข้าวด้วยกัน แต่ผมปฏิเสธ เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมีอาหารตกถึงท้อง ผมนั่งดูเพื่อนกินข้าวไป เล่นโทรศัพท์ไป นับจากนี้ไปอีก 1 เดือน วงจรชีวิตของมันจะกลายเป็นแบบนี้ ตื่นกินข้าวกินน้ำก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและกินดื่มได้อีกทีหลังพระอาทิตย์ตก

หลังจบทริปท่องเที่ยวในมาเลเซีย ผมกลับมาเป็นมนุษย์ออฟฟิศเช่นเดิม แต่ความสงสัยในกระบวนการถือศีลอดยังคงติดค้างอยู่ในใจ ร่างกายมนุษย์ได้รับประโยชน์จากการอดอาหารและน้ำเป็นเวลานานติดต่อกันร่วมเดือนได้จริงหรือ? ผมค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หลายเว็บไซต์และวิดีโอกล่าวถึงประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับ เมื่ออดอาหารไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต ค่าไขมัน และระดับน้ำตาลที่จะลดลง นอกจากนั้นยังรวมถึงการชำระล้างสารพิษในร่างกายอีกด้วย ผมนึกถึงผลตรวจสุขภาพประจำปีก่อนหน้านี้ไม่นาน ร่างกายของผมแข็งแรงสุขภาพดี ผมอยากรู้ว่าถ้าผมถือศีลอดเช่นเดียวกับชาวมุสลิมบ้างจะเป็นอย่างไร? และแล้วกระบวนการอดอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็ได้เริ่มต้นขึ้น

 

เริ่มต้นฝึกความอดทน

“ไม่ยากอย่างที่คิด” คือนิยามของความรู้สึกโดยรวมในวันแรกของการถือศีลอด สิ่งที่ผมกังวลไม่ใช่อาหาร แต่เป็นน้ำต่างหาก เนื่องจากปกติแล้วผมเป็นคนที่ดื่มน้ำมาก อาจเป็นเพราะผมนั่งอยู่ในออฟฟิศที่มีเครื่องปรับอากาศทั้งวัน เลยทำให้ร่างกายไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำ และผมพยายามเลือกทานอาหารมื้อเช้าที่ไม่เค็ม หรือมันมากนัก เพราะกลัวว่าร่างกายจะกระหายน้ำมากขึ้น ผมนั่งสมาธิแทนการละหมาดอย่างที่ชาวมุสลิมทำ เมื่อตะวันลาลับขอบฟ้าไป วันแรกจบลงด้วย(สัญญาณที่)ดี แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือวินัยที่นับจากนี้ต้องทำให้ครบเดือน

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตจากตัวเองในช่วงสัปดาห์แรก ร่างกายของผมอ่อนเพลียกว่าที่เคย ผมรู้สึกได้เลยว่าตัวเองต้องการนอนมากกว่าเดิม นั่นอาจเป็นเพราะพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ ผมคิดว่าร่างกายจึงพยายามบอกให้ผมพักผ่อนให้มากขึ้นแทน

 

อรุณ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้อำนวยการสถาบันต้อนรับผมด้วยสีหน้าแจ่มใส เมื่อผมแวะไปเยือนยังสถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม ออฟฟิศเล็กๆของเขาตั้งอยู่ในอพาร์ตเม้นท์แห่งหนึ่ง การเดินทางที่ยาวนานประกอบกับช่วงเช้าที่ออกไปทำงานภาคสนามมา ผมสารภาพแบบเขินๆ กับเขาว่าได้แอบดื่มน้ำไปแล้วหนึ่งขวดเมื่อช่วงเที่ยง (คุณ)อรุณหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเชิญให้ผมไปนั่งคุยกันที่โต๊ะ

“ชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเขาเกิดมาโดยไม่เคยได้ลิ้มรสความรู้สึกอดอยากเลย เขาคนนั้นจะไม่เข้าใจว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่ไม่มีจะกินเป็นอย่างไร ส่วนในทางจิตวิญญาณถ้ามนุษย์เรามีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์มากเกินไป จะเริ่มห่างไกลจากศีลธรรมจรรณยาขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอาจกลายเป็นคนที่กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบผู้อื่น ความหิวทำให้มนุษย์เราขาดบางสิ่งบางอย่างในร่างกาย” คุณอรุณกล่าวถึงหัวใจหลักของการถือศีลอดให้ผมฟัง พร้อมเดินไปหยิบอัลกุรอ่าน เปิดซูเราะห์ดังกล่าวให้ดู “ศีลอดเป็นหนึ่งในบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติตาม” เขากล่าว ผมดึงอัลกุรอ่านฉบับภาษาไทยกับฉบับภาษาอาหรับมาดูเปรียบเทียบกัน ในภาษาอาหรับมีข้อความที่ระบุถึงการถือศีลอดไว้เพียงไม่กี่บรรทัด แต่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่อนข้างยาว เนื่องจากมีการแปลคำศัพท์เฉพาะไว้ด้วย

ที่มัสยิดกมาลุลอิสลาม ชายคนหนึ่งอ่านอัลกุรอ่านระหว่างรอละศีลอดประจำวัน เดือนรอมฎอนหรือเดือนบวชเป็นเดือนพิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานอัลกุรอ่านลงมาแก่มนุษย์ ดังนั้นชาวมุสลิมจึงนิยมอ่านอัลกุรอ่านให้จบภายในเดือนนี้

“ในอัลกุรอ่านระบุว่า การถือศีลอดมีขึ้นเพื่อให้ผู้ศรัทธามีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ความยำเกรงหมายความว่าให้มนุษย์มีคุณธรรม มีศีลธรรม และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในเดือนรอมฎอนนอกเหนือจากการงดเว้นกินดื่มในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว เดือนนี้ยังเป็นเดือนแห่งการบริจาค”

ผมขอให้เขาช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของความรู้สึกหิวกับการทำบาปเพิ่มเติม เพื่อความกระจ่าง ในความรู้สึกของผม ความหิวดูจะเป็นพลังงานที่มาพร้อมกับความโกรธเกรี้ยว มากกว่าความสงบร่มเย็น

ในอิสลาม เราเชื่อว่ากายและจิตสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อร่างกายอด จิตวิญญาณก็จะอดตามไปด้วย ตัวการที่สั่งให้มนุษย์ทำดีหรือทำชั่วนั้นมาจากข้างในคือจิตทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อตัวเราลดละ กิเลสตัณหาทั้งหลายก็จะลดตามไปด้วย” อรุณอธิบาย เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เราชาวมุสลิมจะนำสิ่งที่จิตใจได้เรียนรู้ไปใช้กับอีก 11 เดือนที่เหลือ เมื่อเวลาผ่านไปความตั้งมั่นในการทำดีเหล่านี้มันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นปีหน้าเราก็จะมาถือศีลอดกันใหม่ เหมือนมาเข้าคอร์สกับพระผู้เป็นเจ้าทุกปี” เขาหัวเราะ

เมื่อถามถึงแนวโน้มของสังคม เป็นไปได้หรือไม่ว่าจำนวนชาวมุสลิมรุ่นใหม่จะถือศีลอดกันน้อยลง คุณอรุณให้ความเห็นว่าไม่มีมากขึ้นหรือน้อยลงทุกสิ่งเป็นปกติเช่นเดิม พร้อมยกตัวอย่างชาวมุสลิมที่ต้องทำงานก่อสร้าง หากเขาถือศีลอดไม่ไหวก็อาจจะถือแค่เสาร์อาทิตย์ก็ทำได้ เป็นการเลือกปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ผ่านการทดสอบมามากกว่าคนอื่น ย่อมได้มากกว่าคนอื่นเช่นกัน”

“เพราะพระผู้เป็นเจ้าท่านรู้ว่าการถือศีลอดสามสิบวันนั้น ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์”

 

Recommend