เหยี่ยวรู้จักจุดไฟเผาป่า

เหยี่ยวรู้จักจุดไฟเผาป่า

ภาพถ่ายของเหยี่ยวดำ จากสวนสัตว์ Tsimbazaza ในมาดากัสการ์ เหยี่ยวสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในนกเหยี่ยวที่ก่อให้เกิดเหตุไฟป่าในออสเตรเลีย

 

เหยี่ยวรู้จักจุดไฟเผาป่า

ไฟไม่ใช่สื่งของแปลกหน้าสำหรับออสเตรเลีย ผู้คนที่อาศัยอยู่บนภูมิประเทศอันแห้งแล้งนี้รู้จักปรับตัวใช้ไฟให้เป็นประโยชน์ ต้องขอบคุณมนุษย์ยุคหินกับฟ้าผ่าในตอนนั้น แต่ทุกวันนี้ชาวอะบอริจินในออสเตรเลียสังเกตเห็นผู้ใช้ประโยชน์จากไฟเพิ่มขึ้นมา พวกมันคือ นก

ในการสัมภาษณ์, เฝ้าสังเกตการณ์ และย้อนรำลึกถึงพิธีกรรมที่มีมานานร่วมศตวรรษ ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของออสเตรเลียล้วนยืนยันว่ามีกลุ่มนกบางชนิดที่พวกเขาเรียกว่า “firehawks” หรือนก เหยี่ยวเผาป่า พวกมันทำได้ด้วยการใช้จะงอยปากหรืออุ้งเท้าคีบเอากิ่งไม้ติดไฟไปหย่อนยังสถานที่ใหม่

จุดประสงค์ก็คือนกเหล่านี้ใช้ไฟเพื่อช่วยในการหาอาหาร กองเพลิงจะช่วยให้พวกมันจับแมลงหรือสัตว์เล็กๆ ได้ง่ายขึ้นในขณะที่บรรดาสัตว์เหล่านี้กำลังหนีออกจากไฟที่ลุกลาม

ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ในการศึกษาวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Ethnobiology  ชวนให้คิดย้อนกลับไปว่าเหตุใดจึงเกิดไฟป่าลุกลามไปทั่วทุ่งหญ้าสะวันนาหลายแห่ง ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย

“เราไม่ได้ค้นพบอะไรเลย” Mark Bonta นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต กล่าว  “ข้อมูลส่วนใหญ่เรารวบรวมมาได้จากการทำงานร่วมกับชาวอะบอริจิน ซึ่งพวกเขารู้เรื่องนี้มาแล้ว 40,000 ปี หรือมากกว่าด้วยซ้ำ”

เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ผู้คนทางตอนเหนือของออสเตรเลียได้พิจารณาแล้วว่า เหยี่ยวดำ (Milvus migrans), เหยี่ยวผิวปาก (Haliastur sphenurus) และเหยี่ยวสีน้ำตาล (Falco berigora) มีพฤติกรรมที่รู้จักใช้ประโยชน์จากไฟ

ในแต่ละปีจะมีการเผาไหม้ของทุ่งหญ้าสะวันนาของผืนป่าเขตร้อนทั่วโลกราว 75% ออสเตรเลียเองก็ไม่มีข้อยกเว้น  ตั้งแต่ปี 1997 ถึงปี 2011 พื้นที่ 18% จากจำนวน 730,000 ตารางไมล์ของทุ่งหญ้าสะวันนาในออสเตรเลียถูกไฟเผาไหม้ทุกๆ ปี ในขณะที่บางภูมิภาคไฟเกิดขึ้นซ้ำทุกๆ สองปี

“ผมเคยเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งใช้กรงเล็บคีบเอากิ่งไม้คุกรุ่นบินไปปล่อยที่ทุ่งหญ้าห่างออกไปประมาณครึ่งไมล์ จากนั้นมันรอให้บรรดาหนูและสัตว์เลื้อยคลานที่กำลังตกใจกับกองเพลิงหนีออกมา” ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของ Waipuldanya Phillip Roberts ในหนังสือ  I, the Aboriginal เมื่อปี 1964 หนังสือที่ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของ Roberts เอง รวบรวมโดย Douglas Lockwood นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลีย “เมื่อพื้นที่นั้นไหม้ไฟแล้ว กระบวนการนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำใหม่อีกครั้งในพื้นที่อื่น”

Bob Gosford ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและผู้ศึกษานกวิทยาสะดุดใจกับข้อความประโยคนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้เขารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวของนกในเวลาต่อมา แม้ว่าตัวเขาจะไม่เคยเห็นพฤติกรรมดังกล่าวด้วยสองตาของตนเอง แต่ผู้ร่วมวิจัยบางคนของเขาเคยเห็นมาแล้ว

ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสงสัยว่าเหยี่ยวจงใจจุดไฟ หรือทำไปโดยไม่ตั้งใจ “สมมุติว่าเหยี่ยวตั้งใจจะคีบเอาเหยื่อแต่ไปติดเอากิ่งไม้เข้า มันก็ต้องปล่อยกิ่งไม้ทิ้งในที่สุด” Anthony Molyneux เจ้าหน้าที่จากอุทยาน Alice Springs Desert Park เคยกล่าวไว้ในปี 2011 “หากกิ่งไม้ที่มันปล่อยบังเอิญติดไฟ ก็จะส่งผลให้เกิดไฟลุกไหม้เพิ่ม” (เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น นกเหยี่ยวจะมาออกันเพื่อจับสัตว์ขนาดเล็กอยู่แล้วตามธรรมชาติ)

ด้าน Gosford และทีมงานของเขา แม้จะรวบรวมข้อมูลทั้งรูปถ่ายและวิดีโอเพื่อยืนยันพฤติกรรมดังกล่าว แต่ปัจจุบันพวกเขายังไม่มีวิดีโอไหนที่สามารถใช้ยืนยันได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามพวกเขาหวังว่าการศึกษาอย่างใกล้ชิดและข้อมูลจากพนักงานดับเพลิงท้องถิ่นจะช่วยพวกเขาได้

“ยิ่งได้เพิ่มเท่าไหร่ก็ยิ่งดีครับ” Bonta กล่าว “ตอนนี้ก็รอแค่เวลาเท่านั้น”

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม 

เหยี่ยวปีกแหลม ราชันแห่งห้วงเวหา

 

Recommend