ชีวิตต้องสู้! ลูกสัตว์เหล่านี้เติบโตโดยปราศจากความช่วยเหลือจากพ่อแม่

ชีวิตต้องสู้! ลูกสัตว์เหล่านี้เติบโตโดยปราศจากความช่วยเหลือจากพ่อแม่

โดย ลิซ แลงเลย์

“มีแม่นกไล่ลูกตนเองออกจากรังหรือไม่?” คำถามแปลกๆ เกี่ยวกับสัตว์ประจำสัปดาห์นี้ โดย ฮันน่า ผู้อ่านจากทางบ้าน เดเนียล โรบี้ ผู้ศึกษานกวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐโอเรกอนตอบคำถามนี้โดยระบุว่าตัวเขาไม่เคยเห็นพฤติกรรม หรือบันทึกใดๆ ว่านกทำแบบนั้น “บรรดานักพ่อแม่จะเรียกลูกๆ ของมันมาเกลี้ยกล่อมให้พวกมันออกไปจากรังเสีย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

คำถามดังกล่าวสร้างความสงสัยคาใจ “อะไรผลักดันให้ลูกสัตว์ออกไปเผชิญโลกภายนอก ก่อนที่พวกมันจะพร้อมเสียอีก?”

 

นกเมกาพอด (Megapodes)

นกส่วนใหญ่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่เมื่อมันยังมีอายุน้อย แต่สำหรับนกในกลุ่มเมกาพอด สัตว์ประเภทไก่ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตะวันออกของออสเตรเลีย, นิวกินี, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เหล่านี้ เป็นข้อยกเว้น

“นกพวกนี้ไม่แม้แต่ฟักไข่ของพวกมัน” โรบี้กล่าว ตรงกันข้ามพวกมันสร้างเนินดินจากเศษไม้ และนำไข่เข้าไปวางไว้ในนั้น ซึ่งข้อมูลจากคู่มือชีววิทยานกนั้นกล่าวไว้ว่า เนินของพวกมันมีขนาดใหญ่เท่าๆ กับรถยนต์เลยทีเดียว

พ่อแม่นกจะควบคุมอุณหภูมิด้วยการเปลี่ยนพืชที่ปกคลุมเนิน และเมื่อไข่ฟักเป็นตัวพวกมันจะขุดออกมาจากเนินและวิ่งตรงเข้าไปในพงหญ้า โดยไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อแม่ของพวกมัน จากนั้นใน 24 ชั่วโมง ลูกนกก็จะบินได้

 

กิ้งก่าเวสเทิร์นเฟนซ์

ในทางตรงกันข้ามกิ้งก่าส่วนใหญ่ “วางไข่ กลบซ่อนไข่ของมันและจากไป” Nassima Bouzid นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว

เนื่องจากว่าพวกมันมี Cloaca ช่องเปิดที่เป็นท่อรวมกันของระบบสืบพันธุ์และระบบขับถ่ายของเสีย ซึ่งBouzid กล่าวว่า กิ้งก่าอย่างเวสเทิร์นเฟนซ์จากอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ที่เธอทำการศึกษามักคิดว่าไข่เป็นอะไรที่น่าอึดอัดและแปลกประหลาด และเมื่อมันขับออกมาจากตัวแล้ว มันก็จะไม่คิดถึงเรื่องนี้อีก

Bouzid กล่าวว่า การขาดการดูแลของพ่อแม่ในกิ้งก่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้พ่อแม่กิ้งก่ามีลูกได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสของการอยู่รอด

กิ้งก่าเวสเทิร์นเฟนซ์
กิ้งก่าเวสเทิร์นเฟนซ์ จากศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าเนแบรสกา

 

กิ้งก่าคาเมเลียน ลาบอร์ด

หนึ่งในสายพันธุ์กิ้งก่าไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่แค่ลูกกิ้งก่าจะไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าพ่อแม่ของพวกมัน แต่กิ้งก่าคาเมเลียนสายพันธุ์นี้ไม่เคยพบเจอกิ้งก่าโตเต็มวัยตัวอื่นๆ ในสายพันธุ์ของพวกมันเลยด้วย

ที่ป่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ กิ้งก่าคาเมเลียน ลาบอร์ด “วางไข่ก่อนที่หน้าหนาวจะมาถึง ไข่เหล่านี้จะฟักเป็นตัวก่อนฤดูฝน” Bouzid กล่าว ไข่ของกิ้งก่าคาเมเลียน ลาบอร์ด ใช้เวลานาน 8 – 9 เดือนในการพัฒนาตัวอ่อนซึ่งเมื่อถึงเวลาที่พร้อม กิ้งก่าที่โตเต็มวัยก็แก่ตายไปแล้ว

และจากนั้นบรรดาลูกกิ้งก่ารุ่นใหม่เหล่านี้ “จะเติบโตโดยที่ไม่เคยพบกับกิ้งก่าโตเต็มวัยเลย” Bouzid กล่าว “คุณสามารถจินตนาการได้ว่า หากพวกมันไม่มีโอกาสวางไข่ ประชากรของพวกมันจะหายไปหมด” และขณะนี้ผืนป่าซึ่งเป็นบ้านของพวกมันกำลังถูกคุกคาม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม

กิ้งก่าคาเมเลียน
กิ้งก่าคาเมเลียน ลาบอร์ด วัยรุ่นตัวหนึ่งกำลังเกาะกิ่งไม้ พวกมันมีพฤติกรรมการวางไข่ที่เป็นเอกลักษณ์ ภาพถ่ายจากอุทยานแห่งชาติ Kirindy Mitea ในมาดากัสการ์

 

ผีเสื้อและมอธ

แมลงจำนวนมากได้รับการดูแลเมื่อมันยังเป็นตัวอ่อน แต่ไม่ใช่สำหรับผีเสื้อและมอธ (ผีเสื้อกลางคืน) พวกมันวางไข่บนใบไม้ จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกๆ เผชิญโลกด้วยตนเอง

“ผีเสื้อบางชนิดวางไข่ใกล้กับรังมด เพื่อที่มดจะได้ดูแลตัวหนอน มันเหมือนกับโมเสสที่ลอยน้ำมาเลยค่ะ” Katy Prudic นักกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยอริโซนากล่าว

ยกตัวอย่างพฤติกรรมของผีเสื้อฟ้าใหญ่ พวกมันจะปล่อยสารที่ดึงดูดมดแดงให้เข้ามาใกล้ และทำให้ตัวเองมีกลิ่นแบบเดียวกับตัวอ่อนมด เพื่อที่มดแดงจะได้พาตัวหนอนกลับรังไปดูแล

ตัวอ่อนผีเสื้อบางชนิดปกป้องตนเองจากนักล่าด้วยสารเคมีที่เป็นพิษ จากพืชที่มันอาศัยอยู่ บางชนิดใช้วิธีการพรางตัวไปกับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบเนียน

ยกตัวอย่างเช่นมอธชนิดหนึ่งในภาคตะวันออกของอเมริกาเหนือ พรางตัวแนบเนียนไปกับเปลือกไม้ และหากมันบังเอิญตกลงมา มันก็สามารถกลับขึ้นไปบนเปลือกไม้ที่เกาะอยู่ได้ ด้วยไหมที่พ่นออกมาติดกับเปลือกไม้เอาไว้

 

อ่านเพิ่มเติม : 13 ความงดงามของสุดยอดภาพถ่ายนกประจำปีวานรน้อย แห่งโมร็อกโก

Recommend